DekGenius.com
 

คำศัพท์ด้านการพิมพ์

กระดาษกล่อง (Box Paper) เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อไม้บด และมักนำเยื่อจากกระดาษใช้แล้วมาผสม มีสีคล้ำไปทางเทาหรือน้ำตาล ผิวด้านหนึ่งมักจะประกบด้วยชั้นของกระดาษขาวซึ่งอาจมีผิวเคลือบมันหรือไม่ก็ได้เพื่อความสวยงามและพิมพ์ภาพลงไปได้ หากเป็นกระดาษไม่เคลือบ จะเรียก กระดาษกล่องขาว หากเป็นกระดาษเคลือบผิวมัน จะเรียก กระดาษกล่องแป้ง น้ำหนักกระดาษกล่องอยู่ระหว่าง 180 – 600 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับทำสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ เช่น กล่อง ป้ายแข็ง ฯลฯ

กระดาษกันปลอม (Security Paper) เป็นกระดาษที่จัดทำขึ้นพิเศษ มีกรรมวิธีการทำหลายอย่างเพื่อป้องกันการปลอมแปลง ใช้ทำสิ่งพิมพ์ที่ต้องการไม่ให้มีการลอกเลียนแบบ เช่น ธนบัตร แสตมป์ ฯลฯ

กระดาษการ์ด (Card Board) เป็นกระดาษที่มีความหนาและแข็งแรงประกอบด้วยชั้นของกระดาษหลายชั้น ชั้นนอกสองด้านมักเป็นสีขาว แต่ก็มีการ์ดสีต่าง ๆ ให้เลือกใช้ บางชนิดมีผิวเคลือบมันเรียบ ซึ่งเรียก กระดาษอาร์ตการ์ด น้ำหนักกระดาษการ์ดอยู่ระหว่าง 110 – 400 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับทำปกหนังสือ บรรจุภัณฑ์ที่มีราคา เช่นกล่องเครื่องสำอาง

กระดาษแข็ง (Hard Board) เป็นกระดาษหลายชั้นแข็งหนาทำจากเยื่อไม้บดและเยื่อกระดาษเก่า มีผิวขรุขระสีคล้ำ มีคำเรียกกระดาษชนิดนี้อีกว่า

กระดาษจั่วปัง น้ำหนักมีตั้งแต่ 430 กรัม/ตารางเมตรขึ้นไป ใช้ทำใส้ในของปกหนังสือ ฐานปฏิทินตั้งโต๊ะ บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ

กระดาษถนอมสายตา (Book Paper) เป็นกระดาษไม่เคลือบผิว บางที่มีสีออกนวลช่วยถนอมสายตา เหมาะสำหรับทำหนังสืออ่าน

กระดาษแบงค์ (Bank Paper) เป็นกระดาษบางไม่เคลือบผิว น้ำหนักไม่เกิน 50 กรัม/ตารางเมตร มีสีให้เลือกหลายสี ใช้สำหรับงานพิมพ์แบบฟอร์มต่าง ๆ ที่มีสำเนาหลายชั้น

กระดาษปรู๊ฟ (Newsprint) เป็นกระดาษที่มีส่วนผสมเยื่อบดที่มีเส้นใยสั้น และมักนำเยื่อจากกระดาษใช้แล้วมาผสมด้วย กระดษปรู๊ฟมีน้ำหนักเพียง 40 – 52 กรัม/ตารางเมตร มีสีอมเหลือง ราคาไม่แพงแต่ความแข็งแรงน้อย เหมาะสำหรับงานพิมพ์หนังสือพิมพ์ และเอกสารที่ไม่ต้องการคุณภาพมาก

กระดาษฟอกขาว (Woodfree Paper) เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อที่ผลิตด้วยระบบเคมีและฟอกให้ขาว เป็นกระดาษที่มีคุณภาพและมีความหนาแน่นสูง การดูดซึมน้อย

กระดาษแฟนซี (Fancy Paper) เป็นคำเรียกโดยรวมสำหรับกระดาษที่มีรูปร่างลักษณะของเนื้อและผิวกระดาษที่ต่างจากกระดาษใช้งานทั่วไป บางชนิดมีการผสมเยื่อที่ต่างออกไป บางชนิดมีผิวเป็นลายตามแบบบนลูกกลิ้งหรือตะแกรงที่กดทับในขั้นตอนการผลิต มีสีสันให้เลือกหลากหลาย มีทั้งกระดาษบางและหนา ประโยชน์สำหรับกระดาษชนิดนี้สามารถนำไปใช้แทนกระดาษที่ใช้อยู่ทั่วไป ตั้งแต่นามบัตร หัวจดหมาย ไปจนถึงกล่องบรรจุภัณฑ์
กระดาษรีไซเคิล (Recycle Paper) เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อกระดาษที่ใช้แล้ว แต่อาจมีการผสมเยื่อใหม่บางส่วนเพื่อความแข็งแรง กระดาษชนิดมักมีสีไม่ขาวและมีสิ่งตกค้างปนอยู่ด้วย

กระดาษสติ๊กเกอร์ (Sticker Paper) เป็นกระดาษที่ด้านหลังเคลือบด้วยกาวเพื่อนำไปพิมพ์ภาพหรือตัวอักษรแล้วนำไปติดบนวัตถุอื่นก่อนใช้งานจะมีกระดาษรองด้านล่าง ต้องลอกกระดาษรองออกก่อนนำไปติด กระดาษสติ๊กเกอร์มีทั้งแบบเคลือบผิวด้านหน้าและไม่แคลือบผิว

กระดาษเหนียว (Kraft Paper) เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อใยยาวผ่านกรรมวิธีทางเคมี จึงมีความเหนียวเป็นพิเศษ มีสีเป็นสีน้ำตาล น้ำหนักอยู่ระหว่าง 80 – 180 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับทำสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ กระดาษห่อของ ถุงกระดาษ

กระดาษอาร์ต (Art Paper) เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อที่ผลิตด้วยระบบเคมี และเคลือบผิวให้เรียบด้านเดียวหรือทั้งสองด้าน การเคลือบอาจจะเคลือบมันเงาหรือแบบด้านก็ได้ มีสีขาว น้ำหนักอยู่ระหว่าง 80 – 160 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับงานพิมพ์ที่ต้องการความสวยงาม งานพิมพ์สอดสี เช่นแคตตาล็อก โบร์ชัวร์

กระดาษเอ็นซีอาร์ (Carbonless Paper) เป็นกระดาษบางมีสีต่าง ๆ ด้านหลังหากต้องการให้เกิดสีบนสำเนาแผ่นถัดไปเมื่อถูกขีดเขียนก็จะเคลือบด้วยน้ำยาใสชนิดหนึ่ง ส่วนด้านหน้าหากเป็นสำเนาแผ่นที่ต้องการให้เกิดสีเมื่อถูกขีดเขียนก็จะเคลือบด้วยสารใสอีกชนิดหนึ่ง

กริ๊ปเปอร์ (Gripper) หรือฟันจับ คือชิ้นส่วนในเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ทที่มีหน้าที่จับกระดาษแล้วพากระดาษวิ่งไปตามส่วนต่าง ๆ ของเครื่องพิมพ์ ฟันจับกระดาษมีหลายชุดส่งผ่านจากชุดหนึ่งไปยังอีกชุดหนึ่งตั้งแต่ต้นจนพิมพ์เสร็จสมบูรณ์

กลับตีลังกา เป็นคำที่ใช้ในโรงพิมพ์สำหรับเรียก การพิมพ์ลงบนแผ่นพิมพ์ที่ใช้เพลท 1 ชุด พิมพ์ด้านหน้าแล้วกลับกระดาษสลับด้านฟันจับเป็นคนละข้างกับหน้าแรก วิธีนี้ทำให้แผ่นพิมพ์ 1 แผ่น ได้งาน 2 ชุดเหมือนกัน

กลับนอก เป็นคำที่ใช้ในโรงพิมพ์สำหรับเรียก การพิมพ์ลงบนแผ่นพิมพ์ที่ใช้เพลท 2 ชุด พิมพ์ด้านหน้า 1 ชุด พิมพ์ด้านหลังอีกหนึ่งชุด

กลับในตัว เป็นคำที่ใช้ในโรงพิมพ์สำหรับเรียก การพิมพ์ลงบนแผ่นพิมพ์ที่ใช้เพลท 1 ชุด พิมพ์ด้านหน้าแล้วกลับกระดาษสลับข้างพิมพ์โดยด้านฟันจับกระดาษยังคงเป็นข้างเดียวกันกับด้านแรก วิธีนี้ทำให้แผ่นพิมพ์ 1 แผ่น ได้งาน 2 ชุดเหมือนกัน

การพิมพ์ระบบออฟเซ็ท คือระบบการพิมพ์ที่ไม่ได้ถ่ายทอดภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์ลงบนชิ้นงานโดยตรง แต่จะผ่านตัวกลางขั้นหนึ่งก่อน กล่าวคือ ภาพพิมพ์ของหมึกจะถูกถ่ายจากเพลทลงผ้ายางแล้วจึงส่งผ่านไปยังกระดาษ โรงพิมพ์ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องพิมพ์ออฟเซ็ทในการพิมพ์งาน

การแยกสี (Color Separation) คือการแยกสีจากงานอาร์ตเวิร์คสีออกมาเป็นภาพ 4 ภาพสำหรับแม่สีแต่ละสี เมื่อนำไปทำเป็นเพลทแม่พิมพ์ 4 แผ่น ทางโรงพิมพ์ก็สามารถใช้พิมพ์ด้วยแม่สีแต่ละสีซ้อนทับกันได้ภาพสอดสีเหมือนต้นฉบับขัดเงา การทำให้ผิวกระดาษเรียบเงาวาวขึ้นโดยวิธีการขัดผิว
ขึ้นเส้น (Score) เป็นกรรมวิธีที่ทางโรงพิมพ์ทำเส้นลึกบนกระดาษ เพื่อสะดวกต่อการพับในแนวที่ต้องการและช่วยไม่ให้ผิวกระดาษ หมึกเกิดการแตกตามรอยพับ

เข้าเล่ม (Binding) ขั้นตอนในโรงพิมพ์ เป็นการรวมแผ่นพิมพ์ให้เป็นเล่ม เริ่มจากการตัดเจียนแผ่นพิมพ์หลังจากพิมพ์เสร็จ พับ เก็บรวมเล่ม ยึดติดเป็นเล่ม ซึ่งอาจใช้การเย็บมุงหลังคา หรือไสสันทากาว หรือเย็บกี่ทากาว หรือเย็บกี่หุ้มปกแข็ง เสร็จแล้วตัดเจียนให้เสมอกัน (ยกเว้นวช้วิธีหุ้มปกแข็ง)
เข้าห่วงเหล็ก/พลาสติก เป็นวิธีการเข้าเล่มโดยใช้ห่วงเหล็ก/พลาสติกร้อยเข้าไปในรูด้านข้างด้านหนึ่งของหนังสือ/ปฏิทินที่เจาะเตรียมไว้ ทำให้แผ่นพิมพ์ไม่หลุดจากกัน

เครื่องพิมพ์ตัดสอง เครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ทที่สามารถพิมพ์กระดาษที่มีขนาดใหญ่สุดไม่เกิน 25 x 38 นิ้ว

เครื่องพิมพ์สี่สี สำหรับโรงพิมพ์หมายถึงเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ทที่สามารถพิมพ์เที่ยวละสี่สีโดยมีหน่วยพิมพ์ในเครื่องอยู่ 4 หน่วย ทำให้การพิมพ์แม่สี 4 สี เสร็จภายในการพิมพ์ 1 เที่ยวพิมพ์

เคลือบเงาเฉพาะจุด(Spot UV) เป็นการเคลือบเงาเฉพาะบางบริเวณของแผ่นพิมพ์ เช่นตัวอักษรสำคัญ ภาพที่ต้องการเน้น ลูกค้าของโรงพิมพ์มักให้เคลือบพีวีซีด้านทั้งแผ่นก่อนเคลือบเฉพาะจุด ซึ่งทำให้ชิ้นงานออกมาดูดี

เคลือบพีวีซีเงา เคลือบผิวกระดาษด้วยฟิล์มพีวีซีที่มีผิวมันวาว ให้ความเรียบและเงาสูง และเงากว่าการเคลือบแบบยูวี แต่ต้นทุนสูงกว่า มีลูกค้าโรงพิมพ์ใช้พอสมควร

เคลือบพีวีซีด้าน เคลือบผิวกระดาษด้วยฟิล์มพีวีซีที่มีผิวด้านคล้ายผิวของกระจกฝ้าแต่สามารถมองผ่านทะลุถึงภาพพิมพ์ได้ ให้ผลลัพธ์ที่ดีและนิยมใช้กันมาก ลูกค้าของโรงพิมพ์มักให้ทำเคลือบเงาเฉพาะจุดควบคู่ไปด้วย

เคลือบยูวี เคลือบผิวกระดาษด้วยน้ำยาเงาและทำให้แห้งด้วยแสงยูวี ให้ความเงาสูงกว่าแบบวานิช ลูกค้าของโรงพิมพ์นิยมเคลือบกล่องบรรจุภัณฑ์และปกหนังสือ

เคลือบยูวีด้าน เคลือบผิวกระดาษแบบเคลือบยูวีแต่ให้ผิวออกมาดูด้าน

เคลือบวาร์นิช เคลือบผิวกระดาษให้เงาด้วยวาร์นิช ให้ความเงาไม่สูงมาก โรงพิมพ์แนะนำใช้เพื่อป้องกันหมึกพิมพ์และผิวกระดาษจากการการเสียดสีและให้ความเงางาม

เคลือบวาร์นิชด้าน เคลือบผิวกระดาษด้วยวาร์นิชแบบหนึ่งทำให้ดูผิวด้าน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ไม่ค่อยให้ความแตกต่างจากวานิชธรรมดาเท่าใดนัก ลูกค้าและโรงพิมพ์จึงไม่ค่อยนิยมใช้กัน

เคลือบวาร์นิชแบบ (water based varnish) เคลือบผิวกระดาษให้เงาด้วยวาร์นิชชนิดใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย

เจาะขาว หมายถึงตัวอักษรหรือลายเส้นเป็นสีขาว (ไม่มีเม็ดสี) ภายในพื้นหรือภาพที่เป็นสีเข้ม ตัวอักษรที่เล็กและบางหากเจาะขาวด้วยอาจสร้างปัญหาในการพิมพ์ให้กับโรงพิมพ์

เจาะปรุ (Perforate) เป็นกรรมวิธีที่ทางโรงพิมพ์ทำเส้นปรุกึ่งขาดบนกระดาษ เพื่อสะดวกต่อการฉีกในแนวที่ต้องการ

เจาะรูร้อยห่วงเหล็ก/พลาสติก เป็นวิธีการเข้าเล่มโดยทางโรงพิมพ์จะเจาะรูสันหนังสือ/ปฏิทินตามจำนวนข้อของห่วงที่จะร้อย เสร็จแล้วนำห่วงเหล็ก/พลาสติกมาร้อยเข้ารูเหล่านี้

ฉาก ในความหมายทางการพิมพ์คือ เส้นเล็ก ๆ สั้น ๆ สองเส้นที่ตั้งฉากกัน ใช้สำหรับยึดเป็นหลักในการออกแบบ การพิมพ์ การซ้อนทับของสี การตัดเจียน การพับ และขั้นตอนอื่น ๆ ในโรงพิมพ์

ชาร์ตสี (Colour Chart) ตารางแสดงผลของเฉดสีต่าง ๆ อันเกิดจากการกำหนดความหนาแน่นของเม็ดสกรีนของแม่สีทั้งสี่ที่ปริมาณต่าง ๆ กัน ช่วยให้ผู้ออกแบบและโรงพิมพ์ใช้เทียบสี

ซับหลัง เป็นอาการที่หมึกพิมพ์บนแผ่นพิมพ์แผ่นหนึ่งซึ่งยังไม่แห้งพอไปติดอยู่บนแผ่นพิมพ์อีกแผ่นที่อยู่ติดกัน ทำให้เกิดความเลอะเทอะบนแผ่นพิมพ์นั้น

ตัดเจียน การตัดเจียนในโรงพิมพ์หมายถึงการใช้เครื่องตัดกระดาษตัดตั้งกระดาษให้ขาดจากกัน อาจตัดเข้าไปในขอบกระดาษเพียงเล็กน้อยเพื่อให้กระดาษทั้งตั้งเสมอกัน เรียกว่าการเจียน

ตัดตก ในการออกแบบอาร์ตเวิร์ค จำเป็นต้องขยายพื้นที่ภาพพิมพ์ใหญ่กว่าขนาดจริงเล็กน้อย เป็นการเผื่อความคลาดเคลื่อนในการทำงานภายในโรงพิมพ์ เช่นการจัดเจียน จึงเรียกการเผื่อนี้ว่าเผื่อตัดตก

แถบสี (Color Bar) คือแถบสีบนแผ่นพิมพ์ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ของเนื้องาน ทางโรงพิมพ์ใช้สำหรับตรวจดูปริมาณหมึกที่จ่ายลงบนแผ่นพิมพ์ให้อยู่ในเกณฑ์ อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการดูคุณภาพของงานพิมพ์ด้านต่าง ๆ

น้ำหนักกระดาษ หน่วยการวัดน้ำหนักของกระดาษ สำหรับโรงพิมพ์และผู้เกี่ยวข้องในเมืองไทยจะใช้หน่วยเป็น “กรัมต่อตารางเมตร” และมักเรียกสั้น ๆ ว่า “กรัม”

น้ำแห้ง เป็นคำที่ช่างพิมพ์ในโรงพิมพ์เรียกอาการที่เยื่อน้ำบนแผ่นเพลทน้อยจนทำให้หมึกพิมพ์ไปเกาะอยู่บนบริเวณทั่วไปของเพลทแทนที่จะเกาะเฉพาะบริเวณที่เป็นเม็ดสกรีน งานพิมพ์จึงดูเลอะหมึกตามไปด้วย

เนกาตีฟ (Negative) ภาพบนแผ่นฟิล์มที่มีแสงสีตรงข้ามกับความเป็นจริง ที่สว่างจะมืด ที่มืดจะกลับสว่าง

แนวขวางเกรนกระดาษ แนวของกระดาษทิศที่ตั้งฉากกับแนวเกรนของกระดาษ แนวทิศนี้กระดาษจะโค้งตัวมากกว่าและยืดตัวมากกว่าแนวเกรน

แบบปั๊ม คือแม่พิมพ์ที่ทำขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ในการปั้มลึก หรือปั้มนูน หรือปั้มไดคัทแล้วแต่ลักษณะของแม่พิมพ์

ใบแทรก ความหมายคล้ายกับหน้าแทรก ต่างกันตรงที่ใบแทรกมักไม่ถูกติดยึดอยู่กับสันหนังสือ หรือมีขนาดเล็กกว่าตัวเล่มหนังสือ

ปรู๊ฟจากพริ้นเตอร์ เป็นการพิมพ์ภาพด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์พริ้นเตอร์ก่อนนำไปพิมพ์จริง ปกติมักใช้ดูข้อความ รูปแบบคร่าว ๆ แต่สีสันไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานได้

ปรู๊ฟดิจิตัล เป็นการพิมพ์ภาพด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์พริ้นเตอร์ขนาดใหญ่ (ใหญ่กว่าขนาดเพลทที่จะใช้พิมพ์จริง) เพื่อใช้ตรวจสอบความถูกต้องก่อนพิมพ์ สีที่ได้พอใกล้เคียงกับการพิมพ์จริง

ปรู๊ฟแท่น เป็นการพิมพ์ภาพด้วยเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ทซึ่งอาจเป็นเครื่องพิมพ์จริงหรือเครื่องขนาดย่อมออกแบบมาเพื่อใช้ในการปรู๊ฟซึ่งพิมพ์ทีละหนึ่งสีจึงต้องพิมพ์หลายเที่ยวจนครบสี งานที่ได้สามารถใช้เป็นบันทัดฐานสำหรับเปรียบเทียบได้

ปั๊มไดคัท (Diecutting) คือวิธีการที่โรงพิมพ์ขึ้นรูปกระดาษโดยการกดทับกระดาษให้ขาดตามรูปแบบที่ฝังใบมีดบนแม่พิมพ์

ปั๊มนูน (Embossing) คือวิธีการที่โรงพิมพ์ขึ้นรูปกระดาษโดยการกดทับกระดาษให้นูนขึ้นได้รูปลักษณ์ตามแบบของแม่พิมพ์ที่ใช้กดทับ

ปั๊มฟอล์ยเงิน/ทอง (Foil/Hot Stamping) คือกรรมวิธีที่โรงพิมพ์ทำภาพพิมพ์บนกระดาษโดยใช้แม่พิมพ์ที่มีความร้อนรีดแผ่นฟอล์ยเงิน/ทองลงให้ติดผิวกระดาษให้เกิดภาพตามแม่พิมพ์ แผ่นฟอล์ยที่ใช้อาจมีสีหรือลวดลายเป็นอย่างอื่นก็ได้

ปั๊มลึก (Debossing) คือวิธีการที่โรงพิมพ์ขึ้นรูปกระดาษโดยการกดทับกระดาษให้ลึกลงได้รูปลักษณ์ตามแบบของแม่พิมพ์ที่ใช้กดทับ
ปีกปก บางครั้งลูกค้าของโรงพิมพ์มีการออกแบบให้มีส่วนของปกยื่นออกมาใหญ่กว่าขนาดของเล่มแล้วพับส่วนที่ยื่นออกมาทำให้ปกเสมอกับตัวเล่ม ส่วนที่ยื่นออกมานี้เรียกว่าปีกปก

โปซิทีฟ (Positive) ภาพบนแผ่นฟิล์มที่มีแสงสีตรงกับความเป็นจริง

ผ้ายาง ผ้ายางที่ใช้ในโรงพิมพ์เป็นแผ่นหนามีผิวนอกเป็นยางด้านหลังเป็นผ้า ในระบบการพิมพ์แบบออฟเซ็ท ผ้ายางเป็นตัวรับภาพของหมึกพิมพ์จาก

เพลท (แม่พิมพ์ภาพ) แล้วถ่ายทอดต่อไปยังกระดาษที่ต้องการพิมพ์ภาพ

พับสองตอน คือการพับแผ่นพับ 1 ครั้ง ได้กระดาษ 2 ส่วน หักพับ 2 ครั้งในแนวขนานกัน จะได้เป็น 3 ส่วน เรียกว่าพับสามตอน

พิมพ์สอดสี คือการพิมพ์ด้วยแม่สี 4 สีโดยพิมพ์ภาพพิมพ์ของแม่สีแต่ละสี (ภาพพิมพ์ซึ่งประกอบด้วยเม็ดสกรีนเล็ก ๆ มีความหนาแน่นต่าง ๆ กันตามลักษณะของภาพ) ทีละสีซ้อนทับกันจนได้เป็นภาพพิมพ์หลายหลากสีเลียนแบบภาพต้นฉบับ

พิมพ์สี่สี คือการพิมพ์ด้วยสี 4 สีซึ่งมักจะหมายถึงแม่สีทั้งสี่โดยพิมพ์ทีละสีซ้อนทับกันเพื่อให้เกิดภาพพิมพ์หลายหลากสีเลียนแบบภาพต้นฉบับ

พิมพ์สีเหลื่อม เป็นอาการของการพิมพ์ที่สีบางสีทับซ้อนคลาดเคลื่อนจากตำแน่งที่ถูกต้อง ทำให้ภาพพิมพ์ไม่คมชัดและเห็นสีที่พิมพ์เหลื่อมออกมา
เพลท เพลทที่ใช้ในโรงพิมพ์เป็นแผ่นอลูมิเนียมใช้เป็นแม่พิมพ์ภาพที่เกิดจากเม็ดสกรีน ทำหน้าที่รับหมึกจากลูกหมึกส่วนที่เป็นเม็ดสกรีนจะมีหมึกมาเกาะ แล้วถ่ายทอดภาพต่อไปยังผ้ายาง

เพลทตัดสอง คือขนาดของเพลทซึ่งทางโรงพิมพ์สามารถนำไปใช้พิมพ์แผ่นพิมพ์ขนาดตัดสองได้ คือขนาด 25 x 36 นิ้ว

เพลทหลุด เป็นอาการที่ช่างพิมพ์ในโรงพิมพ์เรียกเพลทที่มีเม็ดสกรีนบางส่วนหลุดออกจากเพลท ทำให้ไม่สามารถรับหมึกในบริเวณนั้น ภาพที่พิมพ์ออกมาจึงไม่สมบูรณ์

ภาพหลอน (Ghosting) ปรากฏการณ์การเกิดเงาของภาพที่ไม่พึงประสงค์บนชิ้นงานพิมพ์ มักจะเกิดกับภาพที่เป็นพื้นสีมีช่องปราศจากสีเจาะอยู่ภายใน

เม็ดสกรีน เม็ดของสีที่เรียงตัวกันก่อให้เกิดภาพพิมพ์

เม็ดสกรีนบวม (Dot Gain) เป็นอาการของการพิมพ์ที่เม็ดสกรีนบนแผ่นพิมพ์มีขนาดใหญ่กว่าเม็ดสกรีนบนเพลท โดยปกติจะมีขนาดใหญ่กว่าเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าใหญ่มากจะทำให้สีของงานพิมพ์ผิดเพี้ยนไปและความลึกของภาพจะน้อยลงโดยเฉพาะบริเวณที่มืด

โมเร่ (Moire) มักเรียกอาการดังกล่าวว่าการเกิดลายเสื่อ เป็นปรากฏการณ์ที่รูปแบบของเม็ดสกรีนเมื่อพิมพ์สีทับซ้อนกันมีความผิดเพี้ยนไปเนื่องจากพิมพ์สีเหลื่อมฉากไของบางสีซ้อนไม่ตรงกัน หรือองศาของเม็สกรีนบางสีผิดไป หรือเม็ดสกรีนมีการเคลื่อนตัวหรือไหวตัวหรือมีรูปบิดเบี้ยว

โมลผ้ายาง เพลากระบอกกลมในเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ท มีไว้เพื่อพันผ้ายางรอบกระบอกนี้ เมื่อหมุนผ่านกระบอกเพลทจะรับภาพจากเพลทแล้วถ่ายทอดภาพที่ได้ไปกระดาษที่ใช้พิมพ์

โมลเพลท เพลากระบอกกลมในเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ท มีไว้เพื่อพันเพลทรอบกระบอกนี้ เมื่อหมุนผ่านลูกหมึกจะเกิดภาพหมึกแล้วถ่ายทอดภาพที่ได้ไปยังกระบอกผ้ายาง

โมลเหล็ก เพลากระบอกกลมในเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ท มีไว้เพื่อให้กระดาษที่วิ่งผ่านพันรอบกระบอกนี้ เมื่อผ่านกระบอกผ้ายางก็จะรับภาพจากผ้ายางให้ปรากฏบนกระดาษที่ใช้พิมพ์

เย็บกี่ทากาว กรรมวิธีในการยึดเล่มหนังสือให้ติดกัน เริ่มจากการจัดเก็บหน้าหนังสือเป็นชุด ๆ เย็บที่สันแต่ละชุดด้วยด้ายให้ติดกัน เก็บรวมชุดทั้งหมดให้ครบเล่ม แล้วทากาวหุ้มปก

เย็บกี่หุ้มปกแข็ง กรรมวิธีคล้ายกับเย็บกี่ทากาว ต่างกันตรงที่มีขั้นตอนการนำกระดาษแข็งหนามาหุ้มด้วยกระดาษบางที่มีภาพพิมพ์หรือกระดาษ/ผ้าสำหรับทำปก แล้วจึงนำปกมาติดกับตัวเล่ม

เย็บมุงหลังคา กรรมวิธีการยึดเล่มหนังสือให้ติดกันโดยใช้ลวดเย็บที่สันหนังสือด้วยเครื่องเย็บ ปกติโรงพิมพ์จะแนะนำเย็บ 2 จุดโดยมีระยะห่างกันพอประมาณเพื่อไม่ให้เนื้อในแต่ละแผ่นขยับไปมา

รีม หน่วยวัดจำนวนแผ่นกระดาษ เท่ากับ 500 แผ่น กระดาษที่บรรจุขายและส่งให้โรงพิมพ์จะถูกห่อและขายเป็นรีม

ลูกกาว ลูกกลิ้ง (Roller) ในเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ท มีหน้าที่นำพาหมึกจากรางหมึกผ่านชุดลูกกลิ้งนี้ซึ่งจะกระจายหมึกคลึงหมึกและส่งต่อหมึกให้มีความหนาของหมึกที่สม่ำเสมอไปยังโมลเพลทเพื่อสร้างภาพต่อไป

ลูกน้ำ ลูกกลิ้ง (Roller) ในเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ท มีหน้าที่นำพาเยื่อน้ำส่งต่อให้โมลเพลทเพื่อกระจายไปตามบริเวณที่ไม่ต้องการให้หมึกมาติดผิวของเพลทเพื่อการสร้างภาพต่อไป

สกัม (Scum) อาการที่เยื่อน้ำบนแผ่นเพลทน้อยจนทำให้หมึกพิมพ์ไปเกาะอยู่บนบริเวณทั่วไปของเพลทแทนที่จะเกาะเฉพาะบริเวณที่เป็นเม็ดสกรีน งานพิมพ์จึงดูเลอะหมึกตามไปด้วย

สีซีด ภาพพิมพ์บนชิ้นงานบางครั้งดูซีดกว่าที่ควรเป็นเมื่อเทียบกับปรู๊ฟ แม้ช่างพิมพ์จะพยายามจ่ายหมึกเพิ่ม ปัญหานี้อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ ประการหนึ่งคือ ปล่อยเยื่อน้ำบนเพลทมากเกินไป จนหมึกจากลูกหมึกไม่สามารถส่งผ่านลงมาที่เพลทได้เท่าที่ควร

ไสสันทากาว กรรมวิธีในการยึดเล่มหนังสือให้ติดกันโดยการไสสันหนังสือด้วยเลื่อยเหล็ก เสร็จแล้วทากาวที่สัน นำปกมาหุ้มติดกับตัวเล่ม ปัจจุบันโรงพิมพ์จะใช้เครื่องไสสันทากาวอัตโนมัติ

หน้าแทรก ในที่นี้หมายถึงหน้าที่ถูกนำมาแทรกเข้าไปในหน้ายกตอนเก็บเล่มหนังสือ การมีหน้าแทรกอาจเป็นเพราะใช้กระดาษคนละชนิดกันหรือภาพพิมพ์มีจำนวนสีพิมพ์ไม่เท่ากัน หน้าแทรกทำให้การเก็บเล่มลำบากและใช้เวลา

หน้ายก การพิมพ์หนังสือในโรงพิมพ์ หน้ายกคือจำนวนหน้าที่ได้จากการพับแผ่นพิมพ์ 1 แผ่นซึ่งมีขนาด 15.5 x 21.5 นิ้ว หรือ 17.5 x 24 นิ้ว หากพับ 1 ครั้งได้ 4 หน้าเรียก 4 หน้ายก หากพับ 2 ครั้งได้ 8 หน้า เรียก 8 หน้ายก ฯลฯ

หมึกน้ำมันพืช หมึกที่ใช้น้ำมันพืชเป็นสารพื้นฐานในการทำหมึกแทนการใช้น้ำมันปิโตรเลียม ถือว่าเป็นหมึกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่อช่างพิมพ์ในโรงพิมพ์ สัมผัสอาหารได้ และง่ายต่อการกำจัด

หมึกสะท้อนแสง เป็นหมึกทีมีส่วนผสมของสารสะท้อนแสง เมื่อโรงพิมพ์นำไปใช้พิมพ์งานภาพที่มีสีสะท้อนแสงจะสว่างตามแสงที่ส่องกระทบไป มีเฉดสีให้เลือกหลายเฉดสี

หมึกสีพิเศษ หมึกที่ใช้ในโรงพิมพ์ปกติจะเป็นหมึกของแม่สี 4 สีเพื่อพิมพ์ภาพได้สีเหมือนจริงตามต้นฉบับ แต่ในบางครั้งจะมีความต้องการพิมพ์สีที่ต่างออกไปสำหรับงานพิมพ์สีเดียว สองสี สามสี หรือพิมพ์เป็นสีที่ห้าเพิ่มจากแม่สีทั้งสี่ สีพิเศษนี้ ถ้าใช้น้อยทางโรงพิมพ์จะเป็นผู้ผสมจากแม่สี ถ้าใช้ปริมาณมาก มักจะสั่งจากผู้ผลิตหมึกพิมพ์

อัดเพลท การสร้างภาพเม็ดสกรีนลงบนเพลทโดยนำฟิล์มแยกสีมาทาบบนเพลทที่เคลือบน้ำยาแล้วฉายแสง นำเพลทไปล้างส่วนที่ไม่เป็นไม่สกรีนจะถูกกัดลึกลงไป ทำให้เกิดภาพสกรีนขึ้นแล้วนำไปใช้พิมพ์งานต่อไป

2/0 วิธีที่โรงพิมพ์เขียนสั้น ๆ หมายถึงพิมพ์ด้านหน้า 2 สี ด้านหลังไม่พิมพ์

4/1 วิธีที่โรงพิมพ์เขียนสั้น ๆ หมายถึงพิมพ์ด้านหน้า 4 สี ด้านหลังพิมพ์ 1 สี

4+UV/4 วิธีที่โรงพิมพ์เขียนสั้น ๆ หมายถึงพิมพ์ด้านหน้า 4 สี อาบ UV ด้านหลังพิมพ์ 4 สี

C (Cyan) สีฟ้าซึ่งเป็นแม่สีหนึ่งสี่สีในระบบการพิมพ์แบบสอดสี

C10 M20 Y100 K0 วิธีเขียนสั้น ๆ สำหรับค่าเป็นเปอร์เซ็นต์ของความหนาแน่นของเม็ดสกรีนของแม่สีแต่ละสี ในที่นี้คือ Cyan 10% Magenta 20% Yellow 100% Black 0%

CIP 4 คือการร่วมกันระหว่างผู้ค้า ที่ปรึกษา ผู้ใช้ผู้อยู่ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ ในเรื่องการสื่อสารเกี่ยวกับการพิมพ์ การออกแบบ และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ยังครอบคลุมไปถึงเครื่องมือเครื่องจักร ซอฟท์แวร์ ขบวนการต่าง ๆ

CMYK ย่อมาจาก Cyan Magenta Yellow และ Black ซึ่งเป็นแม่สีทั้งสี่ของการพิมพ์แบบสอดสี

Color Bar คือแถบสีบนแผ่นพิมพ์ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ของเนื้องาน ทางโรงพิมพ์ใช้สำหรับตรวจดูปริมาณหมึกที่จ่ายลงบนแผ่นพิมพ์ให้อยู่ในเกณฑ์ อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการดูคุณภาพของงานพิมพ์ด้านต่าง ๆ

Colorimeter เครื่องมือวัดค่าสีตามอย่างที่ตาเห็น

Computer-to-Plate (CTP) เป็นระบบที่สามารถแปลงจากไฟล์งานออกมาเป็นเพลทแม่พิมพ์ที่มีภาพพร้อมใช้พิมพ์ได้โดยไม่ต้องทำเป็นฟิล์มก่อนทำเพลท

Cure คือขบวนการทำให้หมึกพิมพ์หรือน้ำยาเคลือบต่าง ๆ แห้งสนิท ติดกับผิวกระดาษได้ดี ไม่หลุดลอกหรือถลอกง่าย

Dot ในความหมายของการพิมพ์คือเม็ดของสีที่มีการเรียงตัวก่อให้เกิดภาพพิมพ์

DPI (Dots per Inch) เป็นหน่วยวัดความละเอียดของภาพ เท่ากับจำนวนของเม็ดสีที่เรียงกันในความยาวหนึ่งนิ้ว ค่า DPI ยิ่งสูงภาพก็จะมีรายละเอียดและความคมชัดสูง

Duotone คือภาพพิมพ์ที่พิมพ์โดยใช้หมึกพิมพ์ 2 สี มีชั้นของความลึกดีกว่าพิมพ์สีเดียว หากมีการเลือกคู่สีที่เหมาะสม ภาพที่ได้จะดูสวยงามและมีคุณค่า

Feeder ส่วนของเครื่องพิมพ์ที่ทำหน้าที่ป้อนกระดาษทีละแผ่นจากตั้งกระดาษเข้าไปยังหน่วยพิมพ์

Hot Stamping คือกรรมวิธีที่โรงพิมพ์ทำภาพพิมพ์บนกระดาษโดยใช้แม่พิมพ์ที่มีความร้อนรีดแผ่นฟิล์ม/ฟอล์ยลงให้ติดผิวกระดาษให้เกิดภาพตามแม่พิมพ์ แผ่นฟิล์ม/ฟอล์ยอาจมีสีหรือลวดลายแปลก ๆ ก็ได้

Imagesetter เครื่องสร้างภาพ(ที่ประกอบด้วยเม็ดสกรีนที่เรียงตัวกัน)ลงบนแผ่นฟิล์มแยกตามสีแต่ละสีที่จะนำไปใช้ทำเพลทแม่พิมพ์

K (Black) สีดำซึ่งเป็นแม่สีหนึ่งสี่สีในระบบการพิมพ์แบบสอดสี

Line Screen การวัดความละเอียดของชิ้นงานพิมพ์เป็นจำนวนเส้นของเม็ดสกรีนต่อหนึ่งหน่วยความยาว หากค่าดังกล่าวยิ่งสูง ภาพจะมีความคมชัดและมีรายละเอียดยิ่งดีขึ้น

Lithography คือระบบการพิมพ์ที่ใช้หลักการว่าน้ำกับน้ำมันจะไม่รวมตัวกัน ในการพิมพ์ระบบออฟเซ็ท เพลทแม่พิมพ์จะผ่านลูกน้ำเพื่อสร้างเยื่อน้ำบาง ๆ บนเพลท ผิวของเพลทจะมีส่วนที่เป็นเม็ดสกรีนซึ่งเคลือบด้วยสารที่ไม่รับน้ำ น้ำจึงไม่เกาะติด เมื่อเพลทผ่านลูกหมึก หมึกจะไม่ไปเกาะผิวเพลทส่วนที่เป็นน้ำแต่จะไปเกาะที่เป็นเม็ดสกรีน ทำให้เกิดภาพตามที่ต้องการถ่ายทอดลงบนผ้ายางและกระดาษในที่สุด

LPI (Lines per Inch) ความละเอียดของภาพพิมพ์เป็นจำนวนเส้นสกรีนต่อนิ้ว ค่า LPI ยิ่งสูงภาพยิ่งละเอียด การพิมพ์บนกระดาษปรู๊ฟโรงพิมพ์ควรใช้ความละเอียดไม่เกิน 125 LPI กระดาษปอนด์ไม่ควรเกิน 150 LPI กระดาษอาร์ตปกติใช้ 175 LPI แต่มีโรงพิมพ์หลายแห่งใช้ความละเอียดสูงกว่านี้

M (Magenta) สีชมพูซึ่งเป็นแม่สีหนึ่งสี่สีในระบบการพิมพ์แบบสอดสี

Pantone Matching Systems (PMS) ระบบการตั้งรหัสมาตรฐานสำหรับสีแต่ละเฉดสีเพื่อความเข้าใจตรงกันของผู้ใช้สี และทำให้สามารถเลือกสีได้ถูกต้องจากรหัสของสีนั้น ๆ

Resolution ในทางการพิมพ์หมายถึงความละเอียดของภาพ มีหน่วยวัดเป็นจำนวนเม็ดสีต่อหนึ่งหน่วยความยาว เช่น DPI คือ dots per inch

RIP (Rastor Image Processor) เครื่องแปลงภาษาของซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการจัดทำต้นฉบับ เช่น Postcript PDF ให้เป็นภาพที่มีความละเอียดสูงเพื่อนำไปพิมพ์ภาพที่เครื่องพิมพ์ต่อไป

Typesetting คือการจัดเรียงตัวอักษร ลายเส้นต่าง ๆ ประกอบกันขึ้นเพื่อการจัดทำอาร์ตเวิร์คสำหรับหน้าหนังสือหรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ แล้วนำไปใช้ในการพิมพ์ต่อไป

Y (Yellow) สีเหลืองซึ่งเป็นแม่สีหนึ่งสี่สีในระบบการพิมพ์แบบสอดสี

   (ส่งเข้าทาง inbox facebook)
(Share ผ่าน social network)