Search
 
NEWS
 

ใต้ผิวดาวอังคารยุคโบราณ อาจเต็มไปด้วยจุลินทรีย์มีชีวิต

 
 
รายงานการศึกษาด้านอวกาศชิ้นหนึ่งโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยออกมาเมื่อต้นเดือนตุลาคมระบุว่า ดาวอังคารในยุคโบราณอาจมีโลกใต้ดินที่เต็มไปด้วยจุลินทรีย์ขนาดเล็กมาก ซึ่งนักวิจัยชี้ว่า หากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีอยู่จริง ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศไปอย่างสิ้นเชิงจนอาจก่อให้เกิดยุคน้ำแข็งบนดาวอังคาร และนำไปสู่การจบชีวิตของพวกมันในที่สุด บอริส ซอเทอเรย์ หัวหน้าทีมการศึกษาจากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตพื้น ๆ อย่างจุลินทรีย์ “อาจทำให้ตัวมันเองตาย” และว่า รายงานชิ้นนี้ “ดูค่อนข้างหมดหวัง แต่ผมคิดว่า ก็ยังมีอะไรที่น่าสนใจติดตามอยู่ ... ข้อมูลพวกนี้ท้าทายให้พวกเราลองคิดดูใหม่เกี่ยวกับวิถีที่โลกของสิ่งมีชีวิตและดาวเคราะห์หนึ่ง ๆ มีปฏิสัมพันธ์กัน” ตามการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ซอเทอเรย์และทีมของเขากล่าวว่า ได้ใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศเพื่อประเมินความสามารถในการอยู่อาศัยบนเปลือกของดาวอังคารเมื่อประมาณ 4 พันล้านปีก่อน โดยเชื่อว่าในตอนนั้นดาวอังคารเต็มไปด้วยน้ำและมีสภาพที่เป็นมิตรต่อการอยู่อาศัยที่ดีกว่าในปัจจุบัน พวกเขาคาดการณ์ว่า ในตอนนั้น จุลินทรีย์ที่อาศัยไฮโดรเจนเพื่อดำรงอยู่และปล่อยก๊าซมีเทนออกมาอาจจะอาศัยอยู่ใต้พื้นผิวดาวอังคารที่ความลึกลงไปราวหลายสิบเซนติเมตร ที่ถูกปกคลุมด้วยสิ่งสกปรกต่าง ๆ และน่าที่จะมากพอในการช่วยป้องกันพวกมันจากกัมมันตภาพรังสีต่าง ๆ โดยซอเทอเรย์มองว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านี้น่าที่จะจับกลุ่มกันอยู่ในทุกจุดบนดาวอังคารที่ปราศจากน้ำแข็ง เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกในยุคแรก ๆ ซอเทอเรย์ยังกล่าวต่อว่า ในช่วงต้นของดาวอังคาร สภาพอากาศที่คิดว่าเป็นแบบอบอุ่นและชื้นค่อย ๆ ย่ำแย่ลง หลังจากไฮโดรเจนจำนวนมากถูกดูดออกจากชั้นบรรยากาศที่อุดมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเมื่ออุณหภูมิปรับลดจนเกือบติดลบ 200 องศาเซลเซียส สิ่งมีชีวิตตามพื้นผิวต้องพยายามเอาชีวิตรอด โดยการฝังตัวเองลงในชั้นดินที่ลึกลงไป ในทางตรงกันข้าม เหล่าจุลินทรีย์บนพื้นโลกอาจเป็นตัวช่วยรักษาสภาวะอบอุ่นไว้ เนื่องจากชั้นบรรยากาศของโลกที่มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญ คาเว พาเลวาน จากสถาบันเซติ (SETI Institute) ชี้ว่า แบบจำลองสภาพภูมิอากาศของดาวอังคารในอนาคต ควรที่จะพิจารณาการศึกษาข้างต้นของนักวิจัยฝรั่งเศสไว้ด้วย ทั้งนี้ พาเลวาน นำทีมทำการศึกษาอีกชิ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ระบุว่า ดาวอังคารเกิดมาพร้อมกับมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิอบอุ่นเป็นเวลานานหลายล้านปี โดยในตอนนั้น สภาพบรรยากาศของดาวอังคารน่าจะหนาแน่นและส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจน ซึ่งทำหน้าที่เป็นก๊าซเรือนกระจกที่กักความร้อน ก่อนจะเคลื่อนตัวไปยังระดับความสูงที่มากขึ้นและหายไปในอวกาศในที่สุด พาเลวาน อธิบายว่า การศึกษาของฝรั่งเศสได้ตรวจสอบผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่อาจได้รับผลจากจุลินทรีย์ ในช่วงที่บรรยากาศของดาวอังคารถูกครอบคลุมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น จึงไม่สามารถนำไปใช้กับยุคก่อนหน้าได้ “สิ่งที่การศึกษาของนักวิจัยฝรั่งเศส กล่าวไว้อย่างชัดเจนคือ ถ้าสิ่งเหล่านี้มีชีวิตบนดาวอังคาร” ในยุคก่อนหน้านั้น “พวกมันก็จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อสภาพอากาศที่เป็นอยู่” พาเลวานกล่าวเสริม ทีมนักวิจัยชาวฝรั่งเศสแนะนำด้วยว่า สถานที่ที่จะพบร่องรอยของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ น่าที่จะอยู่บริเวณที่ราบ Hellas Planita ซึ่งยังไม่เคยถูกสำรวจ หรือบริเวณ Jezero Crater ทางตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบ Isidis Planita ของดาวอังคาร ซึ่งปัจจุบัน ยานสำรวจ Perseverance ขององค์การนาซ่ากำลังรวบรวมหินเพื่อส่งกลับมาทำการศึกษาบนโลกอยู่ ซอเทอเรย์ เผยว่า สิ่งถัดไปที่เขาต้องการทำ คือพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของจุลินทรีย์ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ใต้พื้นผิวของดาวอังคาร โดยเขาตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า “หากทุกวันนี้ ดาวอังคารยังมีจุลินทรีย์ที่สืบเชื้อสายมาจากชีวภาคในยุคดึกดำบรรพ์ พวกมันจะอยู่ตรงจุดไหน” ที่มา: เอพี - READ MORE
By thai@voanews.com (AP)
Thu, 17 Nov 2022 03:10:05 +0700
 
PREVIOUS NEXT
Tagged:
ADD COMMENT
Topic
Name
5+5 =