Search
 
NEWS
 

“สีรุ้ง” ประเด็นร้อนข้างขอบสนามฟุตบอลโลก

 
 
นอกเหนือจากการแข่งขันฟุตบอลโลกแล้ว “สีรุ้ง” ถือเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจและมีการถกเถียงอย่างดุเดือดไม่แพ้กันในกาตาร์ ปรเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขัน สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ในสัปดาห์แรกของการแข่งขันเวิร์ลด์คัพ ทีมชาติจากยุโรป 7 ทีม ต้องพ่ายแพ้ในความพยายามที่จะสวมปลอกแขนหลากสี ที่มีข้อความเขียนว่า “One Love” ในการลงแข่งฟุตบอลโลก ในขณะที่แฟนฟุตบอลบางคนบ่นว่าพวกเขาไม่สามารถนำสิ่งของที่เป็นสีรุ้ง สัญลักษณ์ของสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ เข้าสนามแข่งในประเทศมุสลิมอนุรักษ์นิยมนี้ได้   การมีเพศสัมพันธ์ของกลุ่มรักร่วมเพศเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศกาตาร์ ซึ่งนั่นทำให้กาตาร์ตกเป็นเป้าและถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิของกลุ่มคนรักร่วมเพศ ตั้งแต่ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกจะเร่ิมขึ้น รวมทั้งมีการตั้งคำถามว่า แฟนบอลที่เป็นสมาชิกของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะปลอดภัยและเป็นที่ต้อนรับในกาตาร์หรือไม่ ซึ่งในเรื่องดังกล่าว กาตาร์ได้กล่าวว่า ประเทศของตนต้อนรับคนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งแฟนบอลที่เป็น LGBTQ อีกด้วย และยังกล่าวว่าทางการรับรองว่าทุกคนจะได้รับความปลอดภัย แต่ถึงอย่างนั้น กาตาร์ก็ขอให้ผู้ที่มาเยือนเคารพวัฒนธรรมของตนด้วย   เพียรา โพวาร์ (Piara Powar) ผู้อำนวยการของ Fare กลุ่มต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ที่ทำหน้าที่รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามและรอบ ๆ สนามแข่งฟุตบอลโลก ให้กับ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า (FIFA) เชื่อว่า กาตาร์มองว่าการถกเถียงเรื่องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นได้รับความสนใจและมีการพูดถึงมากจนเกินไป ทำให้กาตาร์พยายามจะควบคุมการพูดถึงประเด็นดังกล่าวภายในประเทศ   ก่อนที่การแข่งขันฟุตบอลโลกจะเริ่มขึ้น ฟีฟ่าได้หยุดยั้งไม่ให้ทีมจากประเทศยุโรป 7 ประเทศ รวมทั้งอังกฤษและเยอรมนี อนุญาตให้กัปตันทีมสวมปลอกแขน "One Love" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการเลือกปฏิบัติ โดยกล่าวว่าผู้เล่นใดที่สวมปลอกแขนดังกล่าวจะได้รับใบเหลือง ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวของฟีฟ่าได้ทำให้หลายประเทศที่วางแผนจะใส่ปลอกแขนโกรธเคืองเป็นอย่างมาก   เบลเยียม ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 ทีมดังกล่าว โพสต์รูปของทีมผ่านทางทวิตเตอร์ในวันศุกร์ ซึ่งเป็นภาพของกัปตันทีม เอเดน ฮาซาร์ด (Eden Hazard) สวมปลอกแขน "One Love" ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเบลเยียม ฮาดจา ลาห์บิบ (Hadja Lahbib) ก็สวมปลอกแขนดังกล่าวเช่นกัน ในระหว่างชมการแข่งขันระหว่างเบลเยียมและแคนาดา ซึ่งเป็นคู่เปิดการแข่งขันฟุตบอลโลกในวันพุธที่ผ่านมา   อดีตนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก เฮลเล ธอร์นนิ่ง-ชมิดท์ (Helle Thorning-Schmidt) สวมปลอกแขกสีรุ้งในระหว่างการชมการแข่งขันระหว่างเดนมาร์กและตูนีเซีย แต่ในวันรุ่งขึ้น เธอโพสต์ในอินสตาแกรมโดยแสดงท่าทีลังเล และตั้งคำถามว่า การใช้สีรุ้งจะช่วยผู้ที่เป็นเกย์และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในกาตาร์ได้จริงหรือไม่ โดยเธอยังกล่าวอีกว่า การใช้สีรุ้งนั้นอาจจะทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะอาจจะยิ่งทำให้รัฐบาลกาตาร์มีท่าทีที่ขึงขังต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าเดิม โดยเธอเสริมว่า นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า โลกเราไม่ได้มีคำตอบเพียงสองคำตอบ คือ ใช่หรือไม่ใช่ หรือ ดีหรือไม่ดี เท่านั้น แฟนฟุตบอลบางคนกล่าวว่าพวกเขาถูกขอให้ถอดหมวกสีรุ้งและนำหมวกไปทิ้งขณะอยู่ในสนามแข่งขันแห่งหนึ่งเมื่อต้นสัปดาห์ ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีการยืนยันจากฟีฟ่าว่า สิ่งของดังกล่าวจะได้รับให้อนุญาตให้นำเข้าสนามได้  จัสติน มาร์ติน (Justin Martin) พลเมืองชาวอเมริกันที่เป็นอาจารย์นิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกาตาร์ กล่าวว่าเขาถือธงสีรุ้งเล็ก ๆ ในรถไฟ ขณะเดินทางไปชมการแข่งขันแมตช์ระหว่างสหรัฐฯ และเวลส์ ก่อนที่จะมีคนสองคนที่สวมเสื้อเชิร์ตที่ระบุว่าเป็นอาสาสมัคร ขอให้เขาเอาธงทิ้งไป ซึ่งจัสตินกล่าวว่าเขาไม่ต้องการทำตาม   “อาสาสมัครคนหนึ่งแสดงอาการหงุดหงิดแล้วก็ พูดถึงผมว่า ‘น่ารังเกียจ’” มาร์ตินให้สัมภาษณ์กับเอพี แต่เขาบอกว่า เมื่อเขามาถึงสนามแล้ว ตำรวจได้ค้นกระเป๋าเขาแล้วเจอธงสีรุ้งผืนนั้น แต่ก็ไม่ได้ให้เขานำไปทิ้งแต่อย่างใด   ส่วน ลอรา แมคคัลลิสเตอร์ (Laura McAllister) อดีตกัปตันทีมชาติเวลส์ที่ทำหน้าที่เป็นทูตฟุตบอลโลก กล่าวว่าเธอและแฟนบอลคนอื่น ๆ สวมหมวกสีรุ้งไปชมฟุตบอลในวันศุกร์ โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด   ซึ่งในประเด็นดังกล่าว คณะกรรมาธิการผู้จัดงานฟุตบอลโลกกาตาร์ ไม่ได้ตอบคำถามของเอพีที่ขอความกระจ่างว่าทางกาตาร์มีข้อกำหนดอย่างไรต่อการนำสัญลักษณ์สีรุ้งเข้าสนามแข่ง  ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กาตาร์ผู้หนึ่ง กล่าวในทำนองที่ว่า การห้ามถือธงสีรุ้งนั้นทำไปเพื่อต้องการปกป้องแฟนบอลจากการที่อาจจะถูกทำร้าย   ประเด็นเกี่ยวกับการใช้สัญลักษณ์สีรุ้งได้รับการถกเถียงอย่างมากในกาตาร์ และในประเทศตะวันออกกลางอื่น ๆ ซึ่งหลายคนมองว่า ผู้ที่มาเยือนประเทศของตนก็ควรจะเคารพกฎหมาย ประเพณีวัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนาของประเทศเจ้าภาพ เช่นเดียวกับการที่ประชาชนชาวตะวันออกกลาง ก็ควรจะต้องเคารพกฎของประเทศอื่น ๆ เมื่อพวกเขาไปเยือนประเทศเหล่านั้น ในทางกลับกัน ผู้ที่เห็นต่าง มองว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งโลก และกีฬาควรจะเป็นกิจกรรมที่ไม่มีการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติ   นอกจากนี้ ก่อนที่จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแสดงความห่วงใยต่อชาว LGBTQ ในกาตาร์ ว่าพวกเขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างไรหลังจากที่ฟุตบอลโลกสิ้นสุดลง บางคนอ้างว่า ประชาคมโลกมุ่งให้ความสนใจไปที่กลุ่ม LGBTQ ที่เป็นผู้เดินทางมาเชียร์ฟุตบอล แต่กลับไม่ได้ให้ความสนใจอย่างเพียงพอต่อประชาชนกาตาร์ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ต้องอาศัยอยู่ในประเทศ ที่มา: เอพี - READ MORE
By thai@voanews.com (AP)
Sat, 26 Nov 2022 05:17:51 +0700
 
PREVIOUS NEXT
Tagged:
ADD COMMENT
Topic
Name
1+9 =