Search
 
NEWS
 

นักวิทย์ชี้จุดกำเนิดของสัตว์เลื้อยคลานแห่งท้องน้ำยุคดึกดำบรรพ์อยู่ที่รัฐเนวาดา

 
 
นักวิทยาศาสตร์พบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับพื้นที่แห่งหนึ่งในรัฐเนวาดาของสหรัฐฯ ซึ่งมีซากฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลานทะเลขนาดยักษ์ โดยก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คิดว่า ที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่สัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้มาตาย แต่ตอนนี้พวกเขาคิดว่า มันอาจจะเป็นที่ที่พวกมันมาออกลูกก็เป็นได้ บริเวณนี้ดังกล่าวมีชื่อเสียงจากการที่ค้นพบซากฟอสซิลของ อิกทิโอซอร์ขนาดยักษ์ ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นเจ้าถิ่นในท้องทะเลโบราณและสามารถเติบโตได้เท่าขนาดของรถโรงเรียนเลยทีเดียว ทั้งนี้ ชื่อ ‘อิกทิโอซอร์’ แปลว่า กิ้งก่าปลา และพวกมันเป็นนักล่าใต้น้ำที่มีครีบขนาดใหญ่และปากขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยฟัน โครงกระดูกของ ‘อิกทิโอซอร์’ ในเนวาดาถูกค้นพบในช่วงค.ศ. 1950 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ศึกษาซากฟอสซิล หรือนักบรรพชีวินวิทยา ก็ได้ศึกษาว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ตายพร้อมกันได้อย่างไร แต่ตอนนี้ นักวิจัยได้เสนอแนวคิดที่แตกต่างออกไปในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology ฉบับเมื่อเร็ว ๆ นี้ นิโคลัส ไพน์สัน (Nicholas Pyenson) ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษาและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฟอสซิลสัตว์ของเลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติสมิธโซเนียน กล่าวว่า "หลักฐานหลาย ๆ อย่างทำให้เกิดข้อโต้แย้งที่ว่า ที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ที่อิกทิโอซอร์ยักษ์มาออกลูก" แรนดี เออร์มิส (Randy Irmis) หัวหน้าการเขียนรายงานและเป็นนักบรรพชีวินวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยยูทาห์ กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในสวนสาธารณะ Berlin-Ichthyosaur State Park ของรัฐเนวาดา ซึ่งก่อนนี้เคยเป็นทะเล แต่ตอนนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่แห้งแล้งใกล้ ๆ กับเมืองที่เคยเป็นเหมืองแร่เก่า   โครงกระดูกของเจ้าอิกทิโอซอร์นี้มีขนาดใหญ่มาก โดยกระดูกสันหลังของมันมีขนาดประมาณ 25 เซนติเมตร และกระดูกจากครีบก็มีความหนาเท่ากับหินก้อนใหญ่ ซึ่ง เออร์มิส อธิบายว่าว่า เป็นข้อมูลที่นักวิจัยได้จากการทำสแกนแบบ 3 มิติเพื่อสร้างแบบจำลองดิจิทัลที่แสดงรายละเอียดของกระดูกของสัตว์ดึกดำบรรพ์นี้ ไพน์สัน ผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติสมิธโซเนียน กล่าวเสริมว่า นักวิจัยระบุชี้ซากฟอสซิลจากอิกทิโอซอร์อย่างน้อย 37 ตัวจากพื้นที่ในรัฐเนวาด้านี้ที่มีอายุเก่าแก่ถึงประมาณ 230 ล้านปี โดยกระดูกเหล่านั้นถูกเก็บรักษาไว้ตามชั้นหินต่าง ๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจตายห่างกันไปเป็นเวลาหลายแสนปีและไม่ได้ตายพร้อมกันทั้งหมดในคราวเดียว การค้นพบครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อนักวิจัยพบกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ท่ามกลางฟอสซิลของอิกทิโอซอร์ตัวโตเต็มวัย ซึ่งนักวิจัยศึกษาจนพบว่า พวกมันเป็นกระดูกของตัวอ่อนและลูก ๆ ของสัตว์ดำดึกบรรพ์นี้   นักวิจัยสรุปได้ว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เดินทางไปยังพื้นที่นั้นเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อปกป้องพวกพ้องในเวลาที่กำลังออกลูก เช่นเดียวกับสัตว์ทะเลในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า ฟอสซิลเหล่านี้มาจากแม่และลูกอ่อนที่ตายที่นั่นในช่วงเวลาหลายปี นอกจากการค้นพบดังกล่าวแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังพบข้อมูลอื่น ๆ ที่มาหักล้างคำอธิบายบางอย่างที่มีผู้นำเสนอออกมาก่อนหน้านี้ด้วย เออร์มิส นักบรรพชีวินวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยยูทาห์กล่าวว่า การทดสอบสารเคมีในดินไม่ได้แสดงหลักฐานการระเบิดของภูเขาไฟหรือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น และการศึกษาวิจัยยังพบด้วยว่า ซากฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ถูกพบอยู่ตามพื้นมหาสมุทรที่ห่างไกลออกไปจากชายฝั่ง ซึ่งแสดงว่า พวกมันอาจไม่ได้ตายในเหตุการณ์ที่มีสัตว์ทะเลจำนวนมหาศาลเกยตื้น ดีน โลแมกซ์ (Dean Lomax) ผู้เชี่ยวชาญด้านอิกทิโอซอรัสแห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้กล่าวว่า การศึกษาใหม่นี้ให้คำอธิบายที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับพื้นที่ในรัฐเนวาด้าที่สร้างความสับสนให้กับนักบรรพชีวินวิทยามาเป็นเวลาหลายปี และว่าการศึกษานี้ “ช่วยไขความลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ที่น่าสนใจแห่งนี้ได้จริงๆ” ที่มา: เอพี - READ MORE
By thai@voanews.com (AP)
Fri, 06 Jan 2023 05:00:10 +0700
 
PREVIOUS NEXT
Tagged:
ADD COMMENT
Topic
Name
3+9 =