Search
 
NEWS
 

1 ใน 5 ของคนอเมริกัน พูดภาษาที่ 2 ที่บ้าน

 
 
รายงานของสำนักสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ชี้ว่า ในระหว่างปี 1980 ถึง 2019 จำนวนคนในสหรัฐฯ ที่พูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษที่บ้านเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จากจำนวนราว 23 ล้านคนที่มีการบันทึกไว้ในปี 1980 มาเป็นประมาณ 68 ล้านคน หรือราว 1 ใน 5 ของประชากร 330 ล้านคนในประเทศนี้ ดินา อาริด คุณแม่ลูกสามในแคลิฟอร์เนีย ที่เติบโตมาและสื่อสารด้วยภาษาอาหรับที่บ้าน กล่าวว่า “มันบ่งบอกถึงความเป็นสหรัฐฯ ที่เป็นสังคมประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกัน” และว่า “นี่จึงเป็นเรื่องดี ที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่เป็นภาษาหลัก ที่นี่มีผู้อพยพเป็นจำนวนมาก” ทั้งนี้ ภาษาอาหรับคือ 1 ใน 5 ภาษาที่ 2 ที่มีผู้นิยมใช้มากที่สุดในสหรัฐฯ อาริด ซึ่งพยายามสอนภาษาอาหรับให้กับลูก ๆ ของเธออยู่ กล่าวด้วยว่า เธอได้เรียนภาษาอาหรับตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ขณะที่ ลูกพี่ลูกน้องบางคนที่ไม่ได้มีโอกาสเหมือนกับตัวเธอ ทำให้ไม่ค่อยพอใจพ่อแม่ของตัวเอง และได้แต่หวังว่าจะได้ใช้ภาษานี้ที่บ้าน เพื่อที่จะได้สื่อสารด้วยภาษาอาหรับได้ด้วย ข้อมูลจากสำนักสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ระบุว่า ภาษาสเปนเป็นภาษาที่ 2 ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐฯ โดยมีผู้พูดภาษาสเปนที่บ้านมากกว่า 41 ล้านคน ซึ่งมากกว่าภาษาที่ 2 อื่น ๆ ถึง 12 เท่า เนื่องจาก ประชากรที่มีพื้นฐานครอบครัวมาจากประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ โดยราว 55% ของผู้ที่พูดภาษาสเปนนั้นเกิดในสหรัฐฯ   สำหรับภาษาอื่นๆที่ได้รับความนิยม ที่ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกได้แก่ ภาษาจีน ภาษาตากาล็อก ภาษาเวียดนาม และภาษาอาหรับ เจนนี เหงียวน นักศึกษาทันตแพทย์ในรัฐเวอร์จิเนีย และมีพ่อแม่ที่อพยพมาจากเวียดนาม เล่าว่า ขณะที่ พ่อแม่ของเธอใช้ภาษาอังกฤษที่บ้าน เธอก็ยังพยายามสื่อสารด้วยภาษาเวียดนามด้วย เพราะปกติเธอพูดภาษาอังกฤษที่โรงเรียนอยู่แล้ว “เพื่อที่จะว่าไม่สูญเสียความสามารถในการสื่อสารภาษานี้” เหงียวน บอกด้วยว่า ตอนยังเล็ก เธอไม่เห็นความสำคัญของภาษาเวียดนาม แต่ตอนนี้เธอรู้สึกดีใจที่สามารถพูดและเขียนภาษานี้ได้แล้ว ทักษะด้านภาษาเวียดนามที่นักศึกษาทันตแพทย์คนนี้มีช่วยให้เธอสื่อสารกับผู้ป่วยขณะที่เธอเดินทางไปให้บริการด้านทันตกรรมแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ชุมชนที่ยากจนและด้อยโอกาสในประเทศเวียดนาม โดยเธอบอกว่า มีเพื่อนชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามหลายคนไม่สามารถสื่อสารกับผู้ป่วยได้ เพราะเพื่อนของเธอไม่มีพื้นฐานในการพูดภาษาเวียดนาม และตัวของเธอเป็นหนึ่งในกลุ่มอาสาสมัครอายุน้อยจำนวนไม่กี่คน ที่สามารถพูดคุยและสื่อสารกับผู้ป่วยได้   เรย์มอนด์ จอห์น โมซูเอลา เจ้าหน้าที่จัดหางานด้านการดูแลสุขภาพในรัฐเวอร์จิเนีย ที่มีพ่อแม่มาจากฟิลิปปินส์ บอกว่า แม้ว่า ที่บ้านพูดภาษาตากาล็อกซึ่งเป็นภาษาถิ่นหลักของฟิลิปปินส์ผสมกับภาษาอังกฤษ ตนเองเพียงแต่ฟังภาษาตากาล็อกเข้าใจ แต่พูดไม่ได้ โมซูเอลา เล่าว่า แม่ของเขามักพูดภาษาตากาล็อกกับตน แต่ตัวเองจะตอบกลับเป็นภาษาอังกฤษ โมซูเอลา มองว่า การถ่ายทอดวัฒนธรรมพื้นเมืองจากพ่อแม่ไปสู่ลูก ๆ เป็นสิ่งสำคัญ และแม้ในอนาคต เขาอาจจะไม่ได้สอนภาษานี้แก่ลูกของเขา แต่อย่างน้อยตั้งใจที่ก็จะรักษา วัฒนธรรมด้านอาหาร รวมถึงขนบประเพณีต่าง ๆ ไว้ต่อไป ส่วน เคธี เออร์เวย์ นักเขียนบทความด้านอาหารจากมหานครนิวยอร์ก ที่มีแม่เป็นชาวจีน กำลังพยายามเรียนรู้ภาษาจีนกลางจากแอปพลิเคชันสอนภาษา เพื่อให้ตนสามารถใช้ภาษานี้ได้คล่องขึ้น เออร์เวย์ เผยว่า เรื่องที่น่าขันก็คือ คุณพ่อของเธอที่เป็นชาวอเมริกันผิวขาวสามารถพูดภาษาจีนได้ โดยพ่อแม่ของเธอจะพูดภาษาจีนกันเองเพื่อไม่ให้ลูก ๆ เข้าใจ เหมือนเป็นภาษาลับของพวกท่าน แม้ว่าจำนวนของผู้ที่พูดภาษาที่ 2 ขณะอยู่บ้านจะปรับเพิ่มขึ้น รายงานของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ชี้ว่า คนที่พูดแต่ภาษาอังกฤษตอนอยู่ที่บ้านก็มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน จาก 187 ล้านคนในปี 1980 เป็น 241 ล้านคนในปี 2019 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับขึ้นราว 25%   ที่มา: วีโอเอ - READ MORE
By thai@voanews.com (VOA)
Tue, 17 Jan 2023 05:30:21 +0700
 
PREVIOUS NEXT
Tagged:
ADD COMMENT
Topic
Name
5+5 =