Search
 
NEWS
 

อินโดนีเซีย ‘ประธานอาเซียน’ เผชิญแรงกดดันหนักให้จัดการกับเมียนมา

 
 
อินโดนีเซียที่เข้ามารับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ในปีนี้ กำลังถูกกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ให้ดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อบรรดานายพลของกองทัพเมียนมา ที่รู้จักกันในชื่อ ทัตมาดอว์ ซึ่งยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่เมียนมาเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนั้นทำให้แผนสันติภาพอาเซียน ซึ่งรู้จักกันในชื่อข้อตกลงฉันทามติ 5 ข้อ ไม่มีโอกาสถูกนำมาใช้งานได้ดังหวัง แต่สถานการณ์ที่ว่านี้ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ได้หาหนทางใหม่ ๆ ที่ดุดันขึ้นเพื่อมาจัดการกับพลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้นำทัตมาดอว์ รอสส์ มิโลเซวิช ผู้อำนวยการองค์กร Risk Analysis & Resources International ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา เมียนมานั้นลองเชิงสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศและเสียงเรียกร้องจากกลุ่มที่นำโดยบรูไนและกัมพูชาตลอดช่วงที่ผ่านมา แต่ทุกอย่างก็ยังคงเหมือนเดิมและไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจนถึงวันนี้ มิโลเซวิช กล่าวว่า “อาเซียนนั้นได้ดำเนินนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกเสมอมา แต่ความจริงก็ยังคงเป็นความจริง และแผนการที่ว่านี้ก็คือ หายนะดี ๆ นี่เอง ... ผมไม่คิดว่า อาเซียนรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ถูกต้องนัก” ชาร์ลส ซานติอาโก จากกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights) เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และกล่าวว่า ไม่มีการพูดจาหารือกันดังที่มีการระบุในฉันทามติ 5 ข้อเลย หลังผ่านไป 2 ปี และแผนนี้ก็ “ตายไปนานแล้ว ... คือมันจบไปแล้ว ตายไปแล้ว ฝังกลบดินไปเรียบร้อยแล้ว” เมียนมานั้นถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนประจำปีในปี ค.ศ. 2021 ที่บรูไนเป็นประธานหมุนเวียน และในปี ค.ศ. 2022 ที่กัมพูชารับไม้ต่อ แต่ทั้งสองประเทศก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจาหารือกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร ทั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (National Unity Government - NUG) หรือแม้แต่กับกองกำลังประชาชนเพื่อการป้องกันตนเอง (People’s Defense Forces - PDF) เลย รัฐบาลพนมเปญพยายามทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทัตมาดอว์และอาเซียนเป็นปกติ แต่เรื่องนี้ก็ทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ และสุดท้ายก็ล้มเหลว ขณะที่ สถานการณ์ในเมียนมาก็รุนแรงต่อเนื่องจนมีผู้เสียชีวิตไปกว่า 2,700 คน ขณะที่ อย่างน้อย 13,600 คนถูกคุมขังอยู่ และพลเรือนกว่า 1 ล้านคนกลายมาเป็นคนพลัดถิ่น ซานติอาโก กล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลทหารเมียนมาว่า จะจัด “การเลือกตั้งที่สัญญาไว้” ภายในเดือนสิงหาคม พิสูจน์แล้วว่า นี่เป็นเรื่องตลกน่าขัน เพราะกฎหมายเลือกตั้งนั้นปิดกั้นไม่ให้ทั้งพรรค NUG และพรรคการเมืองอื่น ๆ เข้าร่วมได้ และเรื่องนี้ยิ่งจะเสี่ยงที่จะทำให้ความแตกแยกในอาเซียนยิ่งร้าวลึกหนักขึ้นอีก ซานติอาโก ระบุว่า ภายในอาเซียนเองนั้น ประเทศไทย กัมพูชาและลาว พร้อมสนับสนุนผลการเลือกตั้งใด ๆ ก็ได้ที่ทำให้การที่กองทัพควบคุมรัฐบาลพลเรือนได้นั้นเป็นเรื่องชอบธรรมด้วยกฎหมาย ขณะที่ มิน อ่อง หล่าย เองก็น่าจะสามารถหวังพึ่งแรงหนุนจาก จีน รัสเซีย และอินเดีย ได้ด้วย   สมาชิกกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนรายนี้ บอกกับ วีโอเอ ว่า “อินโดนีเซียควรพูดคุยกับมาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ด้วยก็ได้ หรือแม้กับบรูไนถ้าฝ่ายนั้นเห็นด้วย เพื่อออกพูดเลยว่า การเลือกตั้งนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะจะทำให้อาเซียนดูแย่ และอาเซียนก็จะกลายมาเป็นภูมิภาคที่ผู้คนทั่วโลกรังเกียจ” ในส่วนของเวียดนามนั้น ซานติอาโก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงภายในรัฐบาลเวลานี้ทำให้บอกไม่ได้ว่า รัฐบาลกรุงฮานอยมีจุดยืนเรื่องเมียนมาอย่างไร ทั้งนี้ อินโดนีเซียถือว่าเป็นผู้นำอาเซียน หากพิจารณาทั้งเรื่องภูมิศาสตร์ จำนวนประชากร และขนาดของเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ซึ่งมีสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับชาติตะวันตก และยังเป็น 1 ใน 3 ของกลุ่มผู้ประสานงานอาเซียนร่วมกับ บรูไนและมาเลเซีย ด้วย ในระหว่างการร่วมประชุม World Economic Forum เมื่อเร็ว ๆ นี้ ลูฮัต ปัญไจทาน รัฐมนตรีด้านความร่วมมือกิจการน่านน้ำและการลงทุนของอินโดนีเซีย บอกกับผู้สื่อข่าวบลูมเบิร์ก ว่า ทัตมาดอว์ควร “ให้คนอื่นที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาบริหารประเทศนี้ได้แล้ว” ขณะเดียวกัน เรตโน มาร์ซูดิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เพิ่งประกาศว่า จะมีการเปิดสำนักงานผู้แทนพิเศษอาเซียนในเมียนมาเพื่อประสานงานให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมทำงานกันในไม่ช้านี้ แต่เรื่องนี้ก็ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาออกมาเตือนอาเซียนทันที ว่า อย่า “ยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มผิดกฎหมาย[ที่ระบุ]โดยรัฐบาลแห่งเมียนมา” เป็นอันขาด นักวิเคราะห์กล่าวว่า ทางเลือกของจาการ์ตานั้นยังมีอยู่อีกมาก ซึ่งรวมถึง การเปิดทางให้ NUG มานั่งในที่ประชุมอาเซียนได้ หรือ สั่งระงับความสัมพันธ์ทั้งหมดกับรัฐบาลทหารเมียนมา รวมทั้งการดำเนินมาตรการลงโทษตามอย่างนานาประเทศต่อบริษัทที่กองทัพเมียนมาเป็นเจ้าของ และการสั่งห้ามการซื้อขายอาวุธเต็มรูปแบบ เป็นต้น การดำเนินแผนงานข้างต้นจะหมายถึง การห้ามการซื้อขายเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน การจัดตั้งเขตห้ามบิน และเขตปลอดภัยสำหรับผู้ที่หนีภัยความขัดแย้ง และการจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่าง ๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงภายใต้ข้อตกลงฉันทามติ 5 ข้อ   รอสส์ มิโลเซวิช จากองค์กร Risk Analysis & Resources International บอกกับ วีโอเอ ว่า อินโดนีเซีย คือ ประเทศที่เหมาะสมและมีความสามารถพอในการดำเนินการต่าง ๆ เมื่อดูจากสภาพและขนาดของเศรษฐกีและการที่ประเทศนี้มีการทำงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกมากมาย ซึ่งถ้ารัฐบาลจาการ์ตาตัดสินใจดำเนินการกับเมียนมาและกองทัพทัตมาดอว์ ก็จะสร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลให้กับรัฐบาลทหารได้ เมื่อเดือนกันยายนของปีที่แล้ว กลุ่ม Special Advisory Council for Myanmar ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญที่สนับสนุนประชาธิปไตย ระบุในรายงานสรุปสถานการณ์ว่า มิน อ่อง หล่ายและกองทัพเมียนมาไม่ได้มีอำนาจควบคุมประเทศอย่างมีประสิทธิภาพมากเพียงพอที่จะให้การรับประกันว่า ประเทศแห่งนี้จะมีการทำงานเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้ รายงานดังกล่าวอ้างอิงมาตรการสากลในการวัดว่า ฝ่ายใดของคู่ขัดแย้งมีความสามารถถึงเกณฑ์ของการจัดตั้งระบบควบคุมประเทศหนึ่ง ๆ และพบว่า ฝ่าย NUG และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารมี “การควบคุมที่มีประสิทธิภาพ” ในพื้นที่ 52% ของประเทศ และยังพบด้วยว่า กองทัพทัตมาดอว์มักถูกฝ่ายกองกำลังประชาชนเพื่อการป้องกันตนเอง (PDF) และกองกำลังต่อต้านอื่น ๆ ท้าทายอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ 23% ของเขตชนบทของเมียนมา และกองทัพเองก็สามารถควบคุมสถานการณ์ให้สงบได้เพียง 17% ของพื้นที่ของประเทศด้วย รายงานข่าวระบุว่า เมียนมานั้นมีชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาวพื้นเมืองอยู่ 135 กลุ่ม และกลุ่มต่าง ๆ ได้ร่วมจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรขึ้นมา โดยมี 14 กลุ่มที่เข้าร่วมกับกองทัพ PDF ซึ่ง รอสส์ มิโลเซวิช จาก Risk Analysis & Resources International ชี้ว่า มักใช้กลยุทธ์ ‘ชนแล้วหนี’ หรือยุทธวิธีกองโจร เหมือนของกองกำลังโจรเวียดกงในสมัยสงครามเวียดตาม พร้อม ๆ กับผลักดันการเผชิญหน้าในพื้นที่ป่าให้ออกมาอยู่ตามเมืองชนบทต่าง ๆ แล้ว ทั้งนี้ ชาร์ลส ซานติอาโก จากกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประเมินว่า ประเด็นของเมียนมาน่าจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ ของการหารือเมื่ออินโดนีเซียจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนสัญจรในวันที่ 3-7 กุมภาพันธ์นี้ โดยจะเป็นการพูดคุยกันแบบ “เปิดกว้างและตรงไปตรงมา” ระหว่างตัวแทนประเทศสมาชิกโดยไม่เปิดให้คนภายนอกเข้ารับฟัง เพื่อหารือการจัดตั้งวาระนโยบายต่างประเทศอาเซียนสำหรับปีนี้ แต่ ซานติอาโก ชี้ว่า การประชุมที่ว่านี้จะเป็นการหารือที่ค่อนข้างยากที่จะสำเร็จ เพราะขณะที่ รัฐมนตรีทั้งหลายต้องพยายามสรุปแผนงานเพื่อผลักดันข้อตกลงฉันทาอนุมัติ 5 ข้อของอาเซียนให้ได้ “สถานการณ์ล่าสุด(ในเมียนมา) น่าจะกลายมาเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าสำหรับการหารือแล้ว”   ที่มา: วีโอเอ   - READ MORE
By thai@voanews.com (VOA)
Mon, 30 Jan 2023 04:32:10 +0700
 
PREVIOUS NEXT
Tagged:
ADD COMMENT
Topic
Name
8+8 =