รายงานจากธนาคารโลกระบุว่า ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ชาวบราซิลหลายล้านคนต้องตกอยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรงภายในปี 2030 และเรื่องดังกล่าวกระตุ้นให้บราซิลเร่งลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียน
รายงานระบุว่า ประเทศที่ยากจนที่สุดในอเมริกาใต้แห่งนี้จะได้รับผลกระทบต่าง ๆ จากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำท่วมและภัยแล้ง ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น และผลผลิตจากแรงงานลดลง
ทั้งนี้ บราซิลอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งในการจัดหาพลังงานหมุนเวียน โดยเกือบครึ่งหนึ่งของพลังงานเหล่านั้น ซึ่งรวมถึงพลังงานไฟฟ้ากว่า 80% มาจากพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่แล้ว เทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ระหว่าง 15% ถึง 27%
โยฮันเนส ซุตต์ (Johannes Zutt) ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศบราซิลกล่าวว่า ในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของการที่มีคาร์บอนต่ำอย่างเต็มที่ บราซิลจะต้องมีการลงทุนเป็นเงินสุทธิ 0.5% ของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประจำปี จากปัจจุบันไปจนถึงปี 2050 โดยตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจผลักให้ชาวบราซิลจำนวนระหว่าง 800,000 ถึง 3 ล้านคนเข้าสู่ภาวะความยากจนขั้นรุนแรงภายในสิ้นทศวรรษนี้
ในรายงานฉบับเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ธนาคารโลกกล่าวว่า "การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดความยากจน" นอกจากนี้ธนาคารโลกยังได้เผยแพร่รายงานหลาย ๆ ฉบับที่ให้รายละเอียดในเรื่องผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และแนะนำความพยายามในการบรรเทาผลกระทบดังกล่าวด้วย
รายงานในเรื่องประเทศบราซิลนี้ได้กล่าวถึงการศึกษาที่จัดทำโดยธนาคาร Inter-American Development Bank - IDB ที่ชี้ให้เห็นว่าบราซิลอาจถึงจุดพลิกผันในอีกไม่ช้า โดยลุ่มน้ำแอมะซอนจะไม่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอที่จะรักษาระบบนิเวศและรับประกันการจัดหาน้ำและการกักเก็บคาร์บอนอีกต่อไป
ในกรณีที่รุนแรงที่สุด การผสมผสานกันของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า และการขยายพื้นที่ทุ่งหญ้า จะส่งผลกระทบสะสมต่อ GDP ของบราซิลภายในปี 2050 ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 184,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 9.7% ของ GDP ปัจจุบันของประเทศ
ธนาคารโลกกล่าวว่าผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของการหยุดชะงักนี้จะอยู่ในระดับสูง โดยมี "ผลกระทบร้ายแรงที่ตามมาต่อการเกษตร น้ำประปาในเมือง การบรรเทาอุทกภัย และการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ”
รายงานระบุด้วยว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเริ่มเกิดขึ้นแล้วในบราซิล โดยจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝน และเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงในบราซิลทำให้มีการสูญเสียเงินโดยเฉลี่ยปีละ 2,600 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ เหตุการณ์ดินโคลนถล่มและน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดจากฝนตกหนักกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นบ่อยขึ้นในบราซิลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการขาดการวางผังเมืองในย่านผู้มีรายได้ต่ำทั่วประเทศ ซึ่งมักมีการสร้างเพิงพักบนเนินเขาที่มีแนวโน้มที่จะพังทลายลงมา
หลังจากการบริหารของอดีตประธานาธิบดี จาอี โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro) ผู้ซึ่งลดความพยายามในการปกป้องสิ่งแวดล้อมในแอมะซอน ประธานาธิบดี หลุยส์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inacio Lula da Silva) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในปีนี้จึงให้คำมั่นว่าจะนำความพยายามดังกล่าวกลับคืนสู่วาระการประชุมของรัฐบาลอีกครั้ง
ที่มา: รอยเตอร์
- READ MORE
By thai@voanews.com (Reuters)
Fri, 12 May 2023 02:59:40 +0700