วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยกว่า 500 แห่งในสหรัฐฯ จัดให้มีโครงการแข่งขันโต้วาทีเพื่อเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาได้ทำงานร่วมกันเพื่ออภิปรายโต้แย้งเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านประเด็นหรือคำแถลงต่าง ๆ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ งาน National Debate Tournament (NDT)
เหล่านักศึกษาและโค้ชของพวกเขาต่างชี้ให้เห็นถึงประโยชน์หลายประการของกิจกรรมดังกล่าว อันได้แก่ การช่วยพัฒนาทักษะการค้นคว้า ทักษะการคิดวิเคราะห์ การจัดการเวลา และการพูดในที่สาธารณะ เป็นต้น
จอห์น เทอร์เนอร์ (John Turner) ผู้อำนวยการชมรมโต้วาทีที่ Dartmouth College ในเมืองแฮนโนเวอร์ รัฐนิวแฮมป์เชอร์ กล่าวว่า ผู้โต้วาทีจะต้องศึกษาค้นคว้าประเด็นต่าง ๆ อย่างละเอียดและครอบคลุมความรู้ในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมต้องดึงข้อมูลทางวิชาการจากข้อมูลย่อยต่าง ๆ มากมายและนำมุมมองที่หลากหลายนี้มาใช้ร่วมกัน
เทอร์เนอร์กล่าวเสริมว่า ผู้โต้วาทีสามารถนำความรู้ที่นักศึกษาคนอื่น ๆ อาจไม่มีในชั้นเรียนมาใช้ในการโต้วาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาสังคมศาสตร์ และบรรดานักโต้วาทีระดับปริญญาตรีมักจะศึกษาค้นคว้ามากพอ ๆ กับนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเลยทีเดียว
เคลลี ฟิล (Kelly Phil) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นสมาชิกของทีมมิชิแกน (Michigan) ที่เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ NDT Final กล่าวว่า การศึกษาค้นคว้าสำหรับวิชาที่เรียนในชั้นเรียนดูเหมือนจะ “ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ” เมื่อเทียบกับการค้นคว้าเพื่อการโต้วาที
ฟิล ยังเห็นด้วยกับเทอร์เนอร์ ที่บอกว่า การค้นคว้าเพื่อการโต้วาทีนั้นมีประโยชน์สำหรับการเรียนวิชาต่าง ๆ ในชั้นเรียนด้วย และว่า การโต้วาทีได้มอบแหล่งเก็บความรู้พื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ทุกเมื่อในเวลาที่เขียนบทความ
อันนา บิทเนอร์ (Ana Bittner) นักโต้วาทีอีกคนจาก Wake Forest University ซึ่งเป็นทีมผู้ชนะ NDT ในปีนี้คิดว่า ตัวเธอเองอ่านหนังสือเก่งกว่านักศึกษาคนอื่น ๆ และการโต้วาทีนั้นได้พัฒนาความสามารถของเธอในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว อย่างเช่น การที่เธอสามารถอ่านหนังสือ 550 หน้าได้อย่างรวดเร็วในเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงเพื่อหาข้อมูลเพื่อสนับสนุนข้อโต้แย้งในการโต้วาทีของเธอ
มิเคลา มาลซิน (Mikaela Malsin) ผู้อำนวยการชมรมโต้วาทีที่ Emory University ในแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย กล่าวว่า การโต้วาทีช่วยให้นักศึกษาได้คิดเกี่ยวกับประเด็นทั้งสองด้านและเรียนรู้การเคารพผู้อื่น พร้อมชี้ว่า มีกิจกรรมไม่กี่ประเภทหรือมีพื้นที่ไม่มากนักที่ท้าทายให้คนเราคิดต่างและเปิดรับมุมมองที่แตกต่าง
มาลซิน กล่าวด้วยว่า ธรรมชาติของการถกอภิปรายนโยบายที่มีทั้งการโต้วาทีสนันสนุนและการโต้วาทีเพื่อแย้งนั้นเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญมากทีเดียว
ทั้งนี้ กลุ่มนักโต้วาทีหัวกะทิมักจะเดินทางไปแข่งขันในช่วงสุดสัปดาห์ เหมือนกับนักศึกษาที่เป็นนักกีฬา และพวกเขาอาจต้องใช้เวลามากถึงสัปดาห์ละ 30 หรือ 40 ชั่วโมงในการเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันนัดสำคัญ
อารี เดวิดสัน (Ari Davidson) จาก Wake Forest University กล่าวว่า นักศึกษาที่เป็นนักโต้วาทีอาจต้องขาดเรียนมากถึง 10 วิชาในแต่ละภาคการศึกษา ซึ่งทำให้นักศึกษาบางคนเข้าร่วมการโต้วาทีได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพวกเขามีชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งกำหนดให้นักศึกษาต้องเข้าห้องปฏิบัติการทดลอง
ส่วน ฟิล เคลลี จากมิชิแกนกล่าวว่า การใช้เวลาไปในการโต้วาทีรู้ทำให้สึกเหมือนเป็น “อีกส่วนหนึ่งของชีวิตการศึกษา” และยังพบว่า การโต้วาทีช่วยให้เธอสามารถพูดในชั้นเรียนได้มากขึ้น และว่า เมื่อเธอมีความคิดที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่เธอต้องการจะพูด “การพูดในที่สาธารณะก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยจริง ๆ”
ทั้งมาลซินและเทอร์เนอร์ กล่าวว่า นักโต้วาทีที่ดีที่สุดจะสามารถรวมข้อมูลจำนวนมากและนำมาใช้เพื่อการอภิปรายโตแย้งได้มากมายหลายประเด็น
แต่เหนือสิ่งอื่นใด อารี เดวิดสัน และ จอห์น เทอร์เนอร์ ชี้ว่า กิจกรรมนี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นห้องทดลองสำหรับทดสอบแนวคิดและหาวิธีแก้ไขปัญหาใหญ่ ๆ นั่นเอง
ที่มา: วีโอเอ
- READ MORE
By thai@voanews.com (VOA)
Fri, 02 Jun 2023 06:03:58 +0700