สหประชาชาติ ออกโรงเตือนในวันพุธ ว่าเกือบ 40% ของประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในภาวะหนี้ขั้นวิกฤต ในจังหวะที่ระดับหนี้สาธารณะทั่วโลก แตะระดับสูงสุดทำสถิติที่ 92 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว
อันโตนิโอ กูเทอเรซ เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันอังคารระหว่างการเปิดตัวรายงาน A World of Debt ว่า “ประชากรราว 3.3 ล้านล้านคน – หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมวลมนุษยชาติ – อาศัยอยู่ในประเทศที่ใช้ชำระหนี้กู้ยืมขนานใหญ่มากกว่าทุ่มงบประมาณไปกับการศึกษาหรือสาธารณสุข” และว่า “เนื่องจากภาระหนี้ที่ไม่ยั่งยืนเหล่านี้ กระจุกตัวอยู่ในประเทศยากจน จึงไม่ถือเป็นกลุ่มที่สร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงินโลกได้”
รายงานฉบับนี้ ชี้ว่าประเทศกำลังพัฒนา 59 ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับระดับหนี้ต่อจีดีพีที่ 60% หรือสูงกว่านั้น เพิ่มจาก 22 ประเทศเมื่อปี 2011 ซึ่งเลขาฯ ยูเอ็นระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนามีระดับหนี้สาธารณะน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วก็จริง แต่กลับมีต้นทุนที่ต้องจ่ายชำระคืนในสัดส่วนที่สูงกว่า “โดยเฉลี่ยแล้วประเทศในแอฟริกาต้องชำระหนี้มากกว่าสหรัฐฯ ถึง 4 เท่า และมากกว่ากลุ่มประเทศร่ำรวยในยุโรปถึง 8 เท่าตัว”
กูเทอเรซ กล่าวด้วยว่าระดับหนี้ภาครัฐเป็นเครื่องมือด้านการเงินที่สำคัญ ที่จะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาและช่วยรัฐบาลในการปกป้องและลงทุนกับประชาชนของพวกเขาได้ “แต่เมื่อประเทศทั้งหลายถูกบีบให้ต้องกู้ยืมเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ภาระหนี้กลายเป็นกับดักที่สร้างหนี้ขึ้นมาเพิ่มอีกเรื่อย ๆ ”
เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น แนะให้นานาประเทศสร้างเครื่องมือบริหารจัดการหนี้ที่สนับสนุนระบบการพักชำระ เงื่อนไขการกู้ยืมที่นานขึ้น และอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมต่ำ ให้กับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางที่เปราะบาง
ที่มา: วีโอเอ
- READ MORE
By thai@voanews.com (VOA)
Thu, 13 Jul 2023 02:54:06 +0700