Search
 
NEWS
 

ญี่ปุ่นเปิดประตูต้อนรับผู้อพยพชาวยูเครนหนีสงครามมาพึ่งพิง

 
 
นับตั้งแต่เริ่มเกิดสงครามในยูเครน ญี่ปุ่นได้รับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนเข้าประเทศกว่า 2,000 คนซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อเทียบกับสถิติการรับผู้ลี้ภัย 74 คนจากทั่วโลกโดยรัฐบาลกรุงโตเกียวในปี 2021 ออคซานา และนาตาเลีย พาราโมโนวา เดินทางจากยูเครนมาสู่ญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 โดยก่อนเกิดสงครามนั้น นาตาเลียอาศัยอยู่ที่เมืองชอสท์กา ในเขตปกครองซูมี ซึ่งถูกกองกำลังรัสเซียยิงถล่มอย่างหนัก   นาตาเลียเล่าว่า ในช่วงเวลานั้นสภาพจิตใจของเธอย่ำแย่มาก จนกระทั่ง ออคซานา ลูกสาวของเธอเดินทางจากอิตาลีมาที่ยูเครนเพื่อพาเธอออกไปจากเมือง โดยบอกกับเธอว่า “เราต้องไปจากที่นี่ เพื่อจะมีชีวิตที่ดีขึ้น” ในขณะที่ สามีของเธอยังคงอยู่ที่ยูเครนต่อไป ทั้งนี้ นาตาเลียและออคซานาได้รับสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัย เนื่องจากลูกสาวคนเล็กของนาตาเลียอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยตั้งแต่เกิดสงครามในปี 2022 มีชาวยูเครนที่เดินทางลี้ภัยไปญี่ปุ่นแล้วราว 2,300 คน เซอร์กีย์ คอร์ซันสกี เอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า เงื่อนไขหลักในการเดินทางมาที่ญี่ปุ่นคือ จะต้องมีสปอนเซอร์ ซึ่งมักจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท บริษัท หรือมหาวิทยาลัย ส่วนก็ที่เหลือขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่น คอร์ซันสกีกล่าวว่า “ทุกวันนี้ จะพบเห็นชาวยูเครนทั่วทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่ฮอกไกโดไปจนถึงโอกินาวา โดยทุกจังหวัดของญี่ปุ่น มีศูนย์พิเศษสำหรับช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครน โดยผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจะมีที่พัก และเด็ก ๆ ได้เข้าโรงเรียน ขณะที่ พ่อแม่สามารถทำงานได้และยังมีประกันสุขภาพเช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่นอีกด้วย” ในส่วนของครอบครัวพาราโมโนวานั้น พวกเขาอาศัยอยู่แถบชานเมืองโตเกียวและจ่ายเฉพาะค่าสาธารณูปโภคเท่านั้น ซึ่งออคซานากล่าวว่า เธอรู้สึกได้ดีถึงน้ำใจไมตรีจากคนในท้องถิ่น เธอกล่าวด้วยว่า ก่อนนี้ “มีความเชื่อที่ว่าญี่ปุ่นเป็นชุมชนที่ไม่เปิดรับคนนอก แต่เมื่อเรามาตั้งรกรากที่นี่ ฉันได้บอกกับแม่ว่า รู้สึกเหมือนกับว่าอยู่ที่บ้าน รู้สึกอบอุ่นและผู้คนก็เปิดกว้าง! อีกด้วย” ในขณะเดียวกัน มีศูนย์ช่วยเหลือชาวยูเครนหลาย ๆ แห่งที่คอยให้ความช่วยเหลือ อย่างเช่น ศูนย์ฮิมาวาริ ซึ่งมี มาริโกะ อูคิโยะ นักจิตวิทยาผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านการช่วยเหลือผู้คนที่มีชีวิตอยู่อย่างบอบช้ำ เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น อูคิโยะกล่าวว่า เธอไม่สามารถหยุดสงครามได้ หรือแม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เองก็ยังไม่สามารถหยุดมันได้ แต่สิ่งที่เธอทำได้ก็คือ การช่วยเหลือผู้คนที่มาที่ญี่ปุ่นพร้อมกับบาดแผลทางจิตใจ อย่างไรก็ตาม การบอบช้ำไม่ได้เป็นเพียงอาการทางด้านจิตใจเท่านั้น แต่มีชาวยูเครนจำนวนมากที่เดินทางมายังญี่ปุ่นด้วยอาการเจ็บป่วยบางอย่าง อย่างเช่น ออคซานาที่กำลังต่อสู้กับโรคมะเร็ง และอูคิโยะซึ่งป่วยเป็นมะเร็งเช่นกัน ก็ได้คอยช่วยเหลือออคซานาในการหาหมอดี ๆ และช่วยในเรื่องการสื่อสารอีกด้วย ทางด้าน โรเบิร์ต ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนวัย 18 ปี ซึ่งปฏิเสธที่จะเปิดเผยนามสกุลแก่ผู้สื่อข่าว บอกว่า ตนได้มาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเป็นเวลา 9 เดือนแล้ว และทางศูนย์ช่วยให้เขาหางานทำและเรียนภาษาญี่ปุ่นไปด้วย โดยความฝันของโรเบิร์ต คือ การได้รับปริญญาสาขาวิศวกรรมอากาศยานและการได้พบกับสมาชิกในครอบครัวของเขาที่ยังอยู่ในยูเครนอีกครั้ง อย่างไรก็ดี โรเบิร์ตกล่าวทั้งน้ำตาว่า เขาจากบ้านจากเมืองมาได้ 18 เดือนแล้ว และตอนนี้ก็คิดถึงครอบครัวอย่างมาก ส่วน นาตาเลีย พาราโมโนวา กล่าวว่า เธอตั้งใจที่จะกลับไปยูเครนเมื่อสงครามสิ้นสุดลง เพื่อช่วยฟื้นฟูประเทศบ้านเกิดของเธอขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แต่สำหรับตอนนี้ เธอกำลังสอนเพื่อนบ้านชาวญี่ปุ่นของเธอถึงวิธีทำอาหารประเภทซุป ที่ชื่อ ‘บอร์ชต์’ ซึ่งเป็นเมนูพื้นถิ่นในแถบยุโรปตะวันออกและเอเชียเหนือ เพื่อเป็นการทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่   ที่มา: วีโอเอ - READ MORE
By thai@voanews.com (VOA)
Tue, 11 Jul 2023 04:30:09 +0700
 
PREVIOUS NEXT
Tagged:
ADD COMMENT
Topic
Name
7+1 =