Search
 
NEWS
 

การศึกษาพบพฤติกรรม ‘อบอุ่น’ ของ ‘งูหางกระดิ่ง’

 
 
คำว่าอบอุ่นและน่ากอดเป็นคำที่เรามักไม่ค่อยจะนึกถึงนักเมื่อพูดถึงงูหางกระดิ่ง ... แต่ผลการศึกษาใหม่จากมหาวิทยาลัย Loma Linda University ที่อยู่ใกล้กับเมืองซาน เบอร์นาดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย อาจเปลี่ยนแปลงความคิดนั้นได้ด้วยการแสดงให้เห็นว่างูหางกระดิ่งที่มีพิษเหล่านี้ ดูเหมือนจะมีความสบายอกสบายใจที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ประเภทเดียวกัน เช่นเดียวกับมนุษย์เรา การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Ethology ฉบับเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า งูหางกระดิ่งดูเหมือนจะมีความสุข เมื่อพวกมันเลื้อยเข้าไปกกกอดเป็นกลุ่มก้อนกับงูหางกระดิ่งตัวอื่น ๆ การค้นพบนี้ขัดแย้งกับแนวคิดที่ว่าสัตว์เลื้อยคลานเป็นนักล่าที่โดดเดี่ยวซึ่งแสดงพฤติกรรมซับซ้อนทางสังคมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การศึกษาดังกล่าวเป็นผลงานของเชลซี มาร์ติน (Chelsea Martin) นักศึกษาปริญญาเอกสาขาชีววิทยาที่มหาวิทยาลัย Loma Linda และ วิลเลียม เฮย์ส (William Hayes) อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์โลกและชีวภาพ ศาสตราจารย์เฮย์สกล่าวว่า ในการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์นั้น เป็นที่ทราบมานานแล้วว่า นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมทั้งมนุษย์ จะรู้สึกสบายใจเมื่อได้ใกล้ชิดกับพวกพ้องของตน และความใกล้ชิดดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้สัตว์เลื้อยคลานมีความผ่อนคลายมากขึ้น ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และลดความเครียด ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากคนมากนัก เขากล่าวด้วยว่า ผู้คนต่างต้องการที่จะฆ่างูโดยตัดหัวพวกมันทิ้งเสีย แต่ที่จริงแล้ว “สัตว์เหล่านี้มีความรู้สึกนึกคิด และยังสามารถแสดงอารมณ์” ได้อีกด้วย ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เฮย์สเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดในการศึกษาเรื่องพฤติกรรมทางสังคมของงูหางกระดิ่งในช่วงนอกเวลางาน ในขณะที่เขามักถูกเรียกให้ไปฟาดฟันกับงูหางกระดิ่งที่เจ้าของบ้านจับได้ในบริเวณภูเขาที่อยู่ทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย ศาสตราจารย์เฮย์สกล่าวว่า เขามักจะจับงูใส่ไว้ถังและพามันกลับเข้าไปปล่อยในป่าอย่างปลอดภัย โดยเจ้างูที่ถูกจับไว้ได้นั้นมักจะสั่นหางกระดิ่งของมันด้วยความเกรี้ยวกราดไปตลอดทาง ความสงบที่เกิดขึ้นเมื่องูหางกระดิ่งได้อยู่ใกล้ชิดกับพวกพ้องของมัน เรียกว่า Social Buffering หรือการที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับสิ่งที่คุ้นเคย ซึ่งจะช่วยลด หรือขจัดความหวาดกลัวและความเครียดไปได้ มาร์ติน กล่าวว่า การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าเมื่องูหางกระดิ่งอยู่กับงูตัวอื่น ๆ พวกมันจะลดการตอบสนองต่อความเครียดของมัน และว่า ไม่เคยมีรายงานเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมทางสังคมในสัตว์เลื้อยคลานมาก่อน เพราะเป็นเรื่องที่พบเห็นในหมู่มนุษย์เท่านั้น สำหรับการวัดระดับความเครียดในงูนั้น มาร์ตินได้ใช้เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจที่ออกแบบมาสำหรับมนุษย์ ซึ่งเขากล่าวว่า การศึกษานี้ทำให้เราได้ทราบว่า มนุษย์เราก็ไม่ได้แตกต่างไปจากงูพวกนี้เลย ที่มา: รอยเตอร์ - READ MORE
By thai@voanews.com (Reuters)
Thu, 03 Aug 2023 04:30:42 +0700
 
PREVIOUS NEXT
Tagged:
ADD COMMENT
Topic
Name
4+4 =