งานของนักข่าวนั้นครอบคลุมเนื้อหาที่หลากหลาย ทั้งรายงานจากสถานที่เกิดเหตุอาชญากรรม ไปจนถึงพื้นที่การชุมนุมความขัดแย้ง และมหาวิทยาลัยโตรอนโตในประเทศแคนาดาได้ศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการทำงานของผู้สื่อข่าว รวมถึงให้ข้อมูลความรู้แก่สำนักข่าวว่าพวกเขาควรที่จะรับมืออย่างไรบ้าง
หลายคนคงไม่เข้าใจและสงสัยว่า การรายงานข่าวเกี่ยวกับความอดอยาก สงคราม ภัยพิบัติ และการจลาจล นั้นส่งผลกระทบอย่างไรได้บ้างต่อนักข่าว แต่ แอนโทนี ไฟน์สไตน์ ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต มีข้อมูลที่พอจะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้
ตลอดระยะเวลา 23 ปีที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ไฟน์สไตน์ได้รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจนักข่าวจำนวนมากกว่า 1,100 คน และเปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างนักข่าวที่รายงานข้อมูลจากการพบเจอเหตุการณ์ร้ายแรงกับนักข่าวที่รายงานเนื้อหาซึ่งมีความกระทบกระเทือนทางจิตใจที่น้อยกว่าดู
จากการศึกษาของไฟน์สไตน์ ภายใต้หัวข้อ “การคาดคะเนความบอบช้ำทางจิตใจของนักข่าวที่เผชิญเหตุการณ์ร้ายแรง” พบว่า นักข่าวหญิงอาจได้รับผลกระทบในระดับที่สูงกว่า เนื่องจากพวกเธอมีสภาพจิตใจที่เปราะบางมากกว่า เมื่อเจอเหตุการณ์ที่รุนแรง
อาจารย์ท่านนี้ เผยว่า "พบภาวะซึมเศร้าในนักข่าวหญิงมากกว่านักข่าวชาย ผลการวิจัยมีความสอดคล้องกันอย่างมาก ไม่ว่าจะทำการศึกษาในประเทศใด ซึ่งเราได้ศึกษาในหลายประเทศแล้ว และพบว่า ผลลัพธ์เป็นสิ่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศหรือวัฒนธรรม ... นักข่าวหญิงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่า(เสมอ)”
ทั้งนี้ การศึกษานี้ชี้ว่า สถานีข่าวของผู้สื่อข่าวทั้งหลายนั้นสามารถดำเนินการได้หลายอย่างเพื่อช่วยบุคลากรของตน
อลิสัน บาสเกอร์วิลล์ บรรณาธิการผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย จากสำนักข่าวรอยเตอร์ กล่าวว่า หน้าที่ของเธอคือให้การสนับสนุนและตรวจสอบทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับนักข่าวที่ต้องทำงานในพื้นที่ความขัดแย้ง
บาสเกอร์วิลล์ อธิบายว่า " เราในฐานะผู้ดูแลความปลอดภัยยังต้องเข้าใจด้วยว่า พวกเขาต้องเผชิญภัยคุกคามที่ว่าในระดับใด และประเด็นนี้จะส่งผลต่อสุขภาพจิตของพวกเขาอย่างไรบ้าง"
ในปี 1980 สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychiatric Association – APA) ให้การยอมรับภาวะเครียดหลังเหตุการณ์ร้ายเเรง (Post-Traumatic Stress Disorder - PTSD) เป็นครั้งแรก แต่สำนักข่าวทั่วโลกกลับต้องใช้เวลานานพอควรกว่าจะรับรู้ถึงผลกระทบจากภาวะดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับนักข่าวของตน
ฮันนาห์ สตอร์ม ผู้ก่อตั้งเครือข่าย Headlines Network องค์กรที่ให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต พร้อมการฝึกอบรมสำหรับสำนักข่าว ชี้ว่า การเล็งเห็นถึงปัญหานี้เป็นเรื่องที่สำคัญจริง ๆ
ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าววีโอเอ สตอร์มกล่าวว่า “สำนักข่าวต่าง ๆ ตระหนักมากขึ้น ในประเด็นที่ว่า เราจำเป็นที่จะต้องพูดถึง ให้ความรู้ และทำให้การสนทนาเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติ รวมถึงผลกระทบจากการทำงานที่มีต่อเรา”
เพราะการศึกษาของไฟน์สไตน์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทั้งหลายจึงได้รับข้อมูลมากมายในเรื่องนี้จากการรวบรวมรายละเอียดของนักข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณความขัดแย้งในคาบสมุทรบอลข่าน สงครามในอิรัก การโจมตี 9/11 และความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในเม็กซิโก ซึ่งล้วนมีประโยชน์ต่อการเตรียมการช่วยบุคลากรข่าวภาคสนามให้รับมือกับผลกระทบของ PTSD ได้ดีขึ้นแล้ว
ที่มา: วีโอเอ
- READ MORE
By thai@voanews.com (VOA)
Tue, 08 Aug 2023 04:00:03 +0700