อาการป่วยที่มียุงเป็นพาหะยังคงเป็นประเด็นน่ากังวลอย่างมากในหลายพื้นที่ของโลก โดยเฉพาะในแอฟริกา แต่ความพยายามของนักวิจัยในการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเช่นนี้เริ่มสร้างความหวังให้กับการต่อสู้และช่วยปกป้องชีวิตผู้คนจากโรคร้ายนี้ได้แล้ว
การศึกษาครั้งใหม่ที่มีขึ้นในประเทศมาลีในแอฟริกาตะวันตกพบว่า ยาที่ผลิตขึ้นในห้องทดลองสามารถปกป้องผู้ใหญ่จากโรคมาลาเรียได้เป็นเวลาอย่างน้อยหกเดือน โดยยาที่ต้องรับเพียงหนึ่งโดสนี้เป็นวิธีการล่าสุดที่น่าจะช่วยรักษาโรคที่มียุงเป็นพาหะนี้ได้
ในปี 2020 ที่ผ่านมา โรคมาลาเรียคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 620,000 คน ขณะที่มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ 241 ล้านคน โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในแอฟริกา
องค์การอนามัยโลกได้ลองนำวัคซีนมาลาเรียตัวแรกสำหรับเด็กมาใช้ แต่ก็พบว่า ยาตัวนี้มีประสิทธิภาพเพียง 30% และต้องใช้ถึงสี่โดสด้วยกัน
ส่วนการศึกษาครั้งใหม่นี้ได้ทำการทดสอบแนวคิดที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง นั่นก็คือ การให้ยาที่ผลิตขึ้นในห้องทดลองซึ่งอัดแน่นไปด้วยแอนติบอดีที่มีความสามารถในการต้านมาลาเรียในปริมาณที่สูงให้กับผู้ป่วย แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนนี้จะทำหน้าที่ได้ดีพอ ๆ กับวัคซีนป้องกันการติดมาลาเรียหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคลเป็นหลัก
นายแพทย์คาซูม คาเยนทาว (Dr. Kassoum Kayentao) แห่ง University of Sciences, Techniques and Technologies ในบามาโก ประเทศมาลี ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาในหมู่บ้านเล็ก ๆ สองแห่งในมาลีกล่าวว่า “วัคซีนที่มีอยู่ไม่สามารถปกป้องผู้คนได้อย่างเพียงพอ”
ในช่วงฤดูระบาดของมาลาเรียในบางพื้นที่ในมาลี ผู้คนมักถูกยุงที่ติดเชื้อกัดโดยเฉลี่ยวันละสองครั้ง
สำหรับยาแอนติบอดีที่ถูกสร้างขึ้นในห้องทดลองโดยนักวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ นี้ แพทย์จะฉีดให้ผู้ป่วยผ่านทางหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้าเส้นเลือดโดยตรง
การแจกจ่ายยานี้แก่ผู้คนจำนวนมากเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่นักวิทยาศาสตร์ก็กำลังทดลองวิธีการรักษาแบบฉีด ซึ่งจะทำให้การแจกจ่ายนั้นง่ายขึ้น
งานวิจัยดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ฉบับเมื่อไม่นานมานี้ และถูกนำเสนอในที่ประชุมทางการแพทย์ในนครซีแอตเติลอีกด้วย
ทั้งนี้ ยาแอนติบอดีดังกล่าวจะทำลายวงจรชีวิตของปรสิตซึ่งแพร่กระจายสู่ร่างกายจากการถูกยุงกัด โดยพุ่งเป้าไปยังปรสิตก่อนที่จะเข้าสู่ตับ ซึ่งเป็นที่ ๆ พวกมันสามารถเติบโตและเพิ่มจำนวนได้ โดยยานี้ถูกพัฒนาขึ้นจากแอนติบอดีของอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนป้องกันมาลาเรียไปแล้ว
นักวิจัยได้ศึกษาผู้ใหญ่จำนวน 330 คนในมาลี โดยผู้ที่เข้าร่วมการศึกษาจะได้รับยาแอนติบอดีในปริมาณที่แตกต่างกัน หรือได้รับยาหลอก ซึ่งเป็นสารที่ไม่มีผลทางกายภาพต่อผู้ป่วย และผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมดได้รับการทดสอบการติดเชื้อมาลาเรียทุก ๆ สองสัปดาห์เป็นเวลา 24 สัปดาห์ ขณะที่ ผู้ที่พบว่า ติดเชื้อมาเลเรียก็จะได้รับการรักษาให้หาย
นักวิจัยพบการติดเชื้อโดยการตรวจเลือดในผู้เข้าร่วมการศึกษา 20 คนที่ได้รับยาในปริมาณที่สูงกว่า นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อใน 39 คนที่ได้รับยาในปริมาณที่ต่ำกว่า ส่วนผู้ที่ได้รับยาหลอกติดเชื้อในระหว่างการศึกษาถึง 86 คน
จะเห็นได้ว่าการให้ยาในปริมาณที่สูงกว่ามีประสิทธิภาพถึง 88% เมื่อเทียบกับการให้ยาหลอก และการให้ยาในปริมาณที่ต่ำกว่ามีประสิทธิภาพ 75% และการป้องกันนี้อาจจะคงอยู่ในช่วงหลายเดือนของฤดูระบาดของมาลาเรีย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับยานี้ แต่จากการประเมินชี้ให้เห็นว่า ยาแอนติบอดีที่ผลิตในห้องทดลองอาจมีราคาเพียง 5 ดอลลาร์ต่อเด็กหนึ่งคนต่อฤดูระบาดของมาลาเรีย
แพทย์หญิงโจฮันนา เดย์ลี (Dr. Johanna Daily) แห่ง Albert Einstein College of Medicine ในนิวยอร์ก ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้กล่าวว่า แอนติบอดีที่ผลิตขึ้นในห้องทดลองนั้นเคยใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง และโควิด-19 มาแล้ว
เธอกล่าวทิ้งทายว่า “ข่าวดีก็คือตอนนี้เรามีการบำบัดรักษาด้วยภูมิคุ้มกันในรูปแบบอื่นเพื่อความพยายามในการควบคุมโรคมาลาเรียเสียที”
ที่มา: เอพี
- READ MORE