องค์การอนามัยโลก และกาชาดสากล ออกโรงเตือนว่าทั่วโลกยังไม่พร้อมรับกับภาวะการระบาดใหญ่ครั้งต่อไป อีกทั้งความท้าทายด้านสุขภาพทั่วโลกที่กำลังเพิ่มขึ้น กำลังคุกคามสุขภาพ สภาพเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบด้านสังคมและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนนับล้านทั่วโลก
สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (The International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies – IFRC) เปิดเผยรายงานล่าสุดว่าด้วยวิกฤตโลกจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 พร้อมเตือนถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้นที่จะมาถึง หากประชาคมโลกไม่เตรียมการในวันนี้เพื่อรับมือกับวิกฤตสาธารณสุขครั้งต่อไป
จากาน ชาปาเกน (Jagan Chapagain) เลขาธิการใหญ่สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ กล่าวย้ำว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังถือเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงชีวิตของผู้คนในขณะนี้
ชาปาเกน กล่าวว่า “ผมคิดว่าไม่มีภัยพิบัติ เฮอร์ริเคน แผ่นดินไหว ภัยแล้ง และอุทกภัยครั้งใด จะสามารถเทียบได้กับโควิด-19 ในแง่ของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ เศรษฐกิจ และสังคม แน่นอนว่าเราทราบดีจากการประเมินที่พบว่ามีผู้คน 6.5 ล้านคนเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ แต่เราทุกคนทราบดีว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจมากกว่าและสูงกว่านั้นมาก”
ในแง่ของผลกระทบเป็นตัวเลขทางการเงินถือว่ายังสูงอยู่มาก โดยชาปาเกน อ้างการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ที่ระบุว่ามูลค่าความเสียหายจากโควิด-19 ในช่วงระยะ 3 ปีมานี้อยู่ที่ 13.8 ล้านล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ชาปาเกน ระบุว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ควรเป็นเครื่องเตือนใจประชาคมโลกในการเตรียมรับมือวิกฤตสาธารณสุขในอนาคต จากที่องค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดวิทยาจำนวนมากได้เตือนว่าการระบาดของโรคต่าง ๆ จะเกิดบ่อยครั้งขึ้นในอนาคต โดยมีปัจจัยกระตุ้นมากมายทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผิดธรรมชาติ การเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ การขยายความเป็นชุมชนเมือง รวมทั้งความเหลื่อมล้ำที่ขยายวงกว้างขึ้น
อย่างไรก็ตาม ชาปาเกน ย้ำว่าความสำเร็จในการรับมือกับวิกฤตสาธารณสุขในอนาคตข้างหน้า ขึ้นอยู่กับการสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ผู้นำโลก และความเชื่อมั่นในระดับชุมชนและระดับประเทศ
เลขาธิการใหญ่ IFRC ย้ำว่า “เมื่อปราศจากความเชื่อมั่น มาตรการรับมือการระบาดใหญ่จะไม่ได้รับการยอมรับและนำไปบังคับใช้กับผู้คนที่จำเป็นมากที่สุด การเตรียมการรับมือต้องอาศัยความเท่าเทียม การเตรียมพร้อมของเราต้องมีความเสมอภาคเพราะภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขจะยิ่งเพิ่มความไม่เท่าเทียมให้มากยิ่งขึ้นไปอีก”
ชาปาเกน ทิ้งท้ายว่า องค์กรชุมชนจะเป็นส่วนสำคัญของการเตรียมพร้อมและรับมือกับโรคระบาด ที่มีบทบาทสำคัญเป็นด่านหน้ารับมือการระบาดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของ IFRC และเครือข่ายอาสาสมัครทั่วโลกเข้าถึงประชาชนมากกว่า 1,100 ล้านคนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และช่วยเหลือพวกเขาให้ปลอดภัยจากโควิดมาแล้ว
อีกด้านหนึ่ง ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) กล่าวย้ำยืนยันว่า โควิด-19 ยังถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกอยู่ โดยกล่าวว่าแม้สถานการณ์การระบาดจะดีขึ้นแล้วเมื่อเทียบกับเมื่อปีก่อน ที่โควิดกลายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนัก แต่ยอดเสียชีวิตรายสัปดาห์ยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนธันวาคมปีก่อน โดยระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่า 170,000 คน ในช่วง 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา
เกเบรเยซุส กล่าวย้ำท่าทีของเลขาธิการใหญ่ IFRC ด้วยว่า “นั่นเป็นแค่ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่รายงานออกมาเท่านั้น เราทราบดีว่าตัวเลขที่แท้จริงสูงกว่านั้นมาก เราไม่สามารถควบคุมไวรัสได้ แต่เราสามารถทำมากขึ้นกว่านี้เพื่อจัดการกับกลุ่มประชากรและระบบสาธารณสุขที่มีความเปราะบาง”
ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า หน่วยงานสาธารณสุขมีความรู้และเครื่องมือในการควบคุมการระบาดของโรคต่าง ๆ เช่นกัน รวมทั้งโครงการเตรียมรับมือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกในอนาคต และเน้นย้ำความสำคัญของโครงการส่งเสริมด้านสาธารณสุขและปกป้องผู้คนจากโรคต่าง ๆ โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้คน 1,000 ล้านคนทั่วโลกมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ที่มา: วีโอเอ
- READ MORE
By thai@voanews.com (VOA)
Tue, 31 Jan 2023 03:40:24 +0700