องค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่าผู้ที่บริโภคแอสปาร์แตมและสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดอื่น ๆ ในปริมาณจำกัดทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้น้อยมาก แม้จะระบุว่าสารแอสปาร์แตมเป็นสารก่อมะเร็งก็ตาม
ฟรานเซสโก แบรนกา ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการและความปลอดภัยด้านอาหารขององค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า “การบริโภคสารดังกล่าวเป็นครั้งคราว ในระดับที่น้อยกว่าสัดส่วนการบริโภคต่อวัน ถือว่าปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ”
ทั้งนี้ แอสปาร์แตม สารให้ความหวานแทนน้ำตาล นำมาใช้อย่างแพร่หลายในอาหารและเครื่องดื่มมากมาย ทั้งน้ำอัดลม หมากฝรั่ง ไอศกรีม ซีเรียล มาตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980
แต่ล่าสุดทางองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง หรือ IARC ขององค์การอนามัยโลก กับคณะกรรมการร่วมด้านสารปรุงแต่งอาหาร แห่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก หรือ JECFA ตัดสินเมื่อเดือนมิถุนายน ให้บรรจุสารชนิดนี้เข้าไปในรายการ “สารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์” เป็นครั้งแรก และมีกำหนดบรรจุสารดังกล่าวไปในรายการสารก่อมะเร็งในเดือนกรกฎาคม
แบรนกา เสริมว่า ทาง JECFA ประเมินความเสี่ยงของการบริโภคแอสปาร์แตมและสรุปว่า “ยังไม่พบหลักฐานการทดสอบหรือข้อมูลของมนุษย์เกี่ยวกับสารแอสปาร์แตมว่ามีผลกระทบเชิงลบหากบริโภคต่อวันไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม”
นั่นหมายความว่า หากบุคคลนั้นน้ำหนัก 70 กิโลกรัม จะสามารถบริโภคแอสปาร์แตมได้ 2,800 มิลลิกรัมต่อวัน และเมื่อเราพิจารณาอาหารที่ใช้สารดังกล่าว อย่างน้ำอัดลม มีปริมาณแอสปาร์แตมราว 200-300 มิลลิกรัมต่อกระป๋อง นั่นเท่ากับว่าบุคคลที่น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม จะสามารถดื่มน้ำอัดลมที่มีสารแอสปาร์แตมได้ไม่เกิน 9-14 กระป๋องต่อวัน
ส่วนกรณีของเด็กที่น้ำหนักตัว 20 กิโลกรัม สามารถบริโภคน้ำอัดลมลักษณะดังกล่าวได้ไม่เกิน 2-3 กระป๋อง
อย่างไรก็ตาม แบรนกา ไม่ได้แนะนำให้บริษัทอาหารและเครื่องดื่มเปลี่ยนแปลงสูตรที่ใช้สารชนิดอื่นแทนแอสปาร์แตม แต่ทิ้งท้ายไว้ว่าฝั่งผู้บริโภคควรจะพิจารณาหรือจำกัดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล
ที่มา: วีโอเอ
- READ MORE
By thai@voanews.com (VOA)
Sat, 15 Jul 2023 03:57:16 +0700