เกาหลีใต้ส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกสำเร็จเมื่อ 25 พฤษภาคม ไม่กี่วันก่อนเกาหลีเหนือจะยิงจรวดรุ่นใหม่ขึ้นจากฐานส่ง สื่อนอกวิเคราะห์ สะท้อนภาวะการแข่งขันทางอวกาศของสองชาติเหนือ-ใต้ที่จริงจังและใช้ทรัพยากรมหาศาล
รอยเตอร์รายงานว่า จรวดนูรี เป็นจรวดที่ออกแบบโดยเกาหลีใต้ทั้งหมด โดยใช้เวลาพัฒนาหลายทศวรรษ ก่อนที่จะเดินทางมาถึงหมุดหมายสำคัญที่นูรีสามารถขึ้นสู่อวกาศและปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ โดยรัฐบาลกรุงโซลมีความทะเยอทะยานที่จะส่งดาวเทียมพลเรือนและดาวเทียมทหารขึ้นสู่วงโคจรต่อไปในอนาคตด้วย
ในขณะที่ฝั่งเกาหลีเหนือ แม้จรวดโชลีมา-1 ซึ่งเป็นโมเดลจรวดล่าสุดจะประสบความล้มเหลวในการทดลองเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่จรวดรุ่นดังกล่าวก็มีความก้าวหน้ากว่าจรวดรุ่นก่อนๆ ที่เคยปรากฏให้เห็นมา
แม้การแข่งขันของทั้งสองชาติจะยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนหรือญี่ปุ่น แต่ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ต่างก็เชื่อมโยงความภาคภูมิใจในความเป็นชาติอยู่กับจรวด สะท้อนจากผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ที่กล่าวว่ากิจการอวกาศคือการแสดงพลังอำนาจในภาพรวมของชาติ ส่วนอดีตประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ มูน แจ-อิน กล่าวในวันที่จรวดโมเดลนูรี ถูกยิงขึ้นฟ้าในวันแรกเมื่อปี 2021 ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือสัญญาณแห่ง “ยุคแห่งอวกาศของเกาหลี”
โจนาธาน แมคโดเวล นักดาราศาสตร์จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน มองว่าการทดลองจรวดครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือสะท้อนถึงความจริงจังในการนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร
ด้านมาร์คัส มิลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจรวดจากยุโรป ระบุว่าการทดลองจรวดครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือ ที่ใช้ฐานยิงจรวดใหม่ที่ใช้เวลาสร้างเพียงเดือนเดียวนั้นเป็นเรื่องที่น่าตกใจ และเรื่องนี้สะท้อนว่าเกาหลีเหนือมีเครื่องไม้เครื่องมือและทรัพยากรจำนวนมากพอควรทีเดียว
รอยเตอร์รายงานว่า การทดลองยิงจรวดนูรีของเกาหลีใต้ คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2025
ที่มา: รอยเตอร์
- READ MORE
By thai@voanews.com (Reuters)
Tue, 25 Jul 2023 04:48:52 +0700