Search
 
NEWS
 

ไบเดนปิดปากเงียบประเด็นสิทธิมนุษยชน ขณะเยือนเวียดนาม-อินเดีย จริงหรือ?

 
 
สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า รายงานสรุปของทำเนียบขาวซึ่งเผยแพร่ออกมาขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน กำลังเยือนเวียดนาม มีความยาวทั้งหมดมากกว่า 2,600 คำ แต่ในส่วนที่พูดถึงสิทธิมนุษยชนนั้นมีเพียง 112 คำเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ผู้นำสหรัฐฯ ค่อนข้างสงวนท่าทีเกี่ยวกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเวียดนามและอินเดีย แลกกับผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ จริงหรือไม่? ในมุมมองทางการค้าและเชิงยุทธศาสตร์แล้ว การเยือนเวียดนามและอินเดียของประธานาธิบดีไบเดนครั้งนี้ ถือว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีที่อาจช่วยให้อเมริกาสามารถคานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ได้ แต่สำหรับนักสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ภารกิจของไบเดนครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นความผิดหวัง เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่รัฐบาลอเมริกันชุดนี้รับปากไว้เมื่อเข้าบริหารประเทศเมื่อปี 2021 ว่าจะให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนเป็นอันดับต้น ๆ ที่เวียดนาม ไบเดนยกระดับความสัมพันธ์กับเวียดนามเป็น "หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน" (Comprehensive Strategic Partnership) และเพิ่มความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีคลาวน์ เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยข้อตกลงขายเครื่องบินโดยสาร โบอิ้ง 737 แมกซ์ จำนวน 50 ลำ มูลค่า 7,800 ล้านดอลลาร์ ให้แก่สายการบินเวียดนามแอร์ไลนส์ด้วย อย่างไรก็ตาม นักสิทธิมนุษยชนมองว่า การที่ผู้นำสหรัฐฯ มิได้หยิบยกประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมาหารือระหว่างการเยือนสองประเทศนี้ อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่เพียงแต่ในอินเดียและเวียดนามเท่านั้น     แคโรลีน แนช แห่งองค์กร Amnesty International กล่าวว่า "รัฐบาลไบเดนเก็บประเด็นสิทธิมนุษยชนออกไปเพื่อผลประโยชน์ในด้านความเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลสองประเทศนั้นซึ่งถูกมองว่ามีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐฯ สามารถยอมรับได้กับความล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้น"     เดเร็ก กรอสแมน ผู้เชี่ยวชาญแห่ง RAND Corp กล่าวว่า เป้าหมายหลักของไบเดนคือการโน้มน้าวให้อินเดียและเวียดนามเข้าร่วมเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับอเมริกาในแถบอินโด-แปซิฟก เพื่อคานอำนาจจีน "ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไบเดนจึงลดความสำคัญหรือหลีกเลี่ยงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน" "ซึ่งการทำเช่นนั้นคือการให้ท้ายประเทศเหล่านั้น รวมถึงชาติอื่น ๆ เช่น ซาอุดิอาระเบีย ให้เดินหน้าในสิ่งที่ทำอยู่ต่อไป"     ที่ผ่านมา พรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี ถูกกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ โดยเฉพาะชาวมุสลิม และยังสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยเหล่านั้น     องค์กร ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ หรือ HRW กล่าวหาด้วยว่า การเลือกปฏิบัติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นในระบบยุติธรรม ตลอดจนจนความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐในการปิดปากนักรณรงค์และผู้สื่อข่าวด้วยการดำเนินคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง     ในกรณีของเวียดนาม HRW ระบุว่า รัฐบาลเวียดนามจับกุมคุมขังนักโทษการเมืองอย่างน้อย 159 คน และในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ศาลที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้สั่งตัดสินจำคุกนักโทษการเมืองอย่างน้อย 15 คนเป็นเวลาหลายปีซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของพวกเขาที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม ผู้สื่อข่าวที่เวียดนามถามประธานาธิบดีไบเดนว่า เขาได้นำเรื่องผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ขึ้นมาก่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือไม่? ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ตอบว่า ตนได้หยิบยกเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นมาหารือกับทุกคนที่พบ แต่ จอห์น ซิฟตัน แห่ง ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ บอกว่า การนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในที่ส่วนตัวนั้นไม่เพียงพอ และรัฐบาลเหล่านั้นจำเป็นต้องรู้ถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนของตนเอง ที่มา: รอยเตอร์ - READ MORE
By thai@voanews.com (Reuters)
Wed, 13 Sep 2023 02:49:19 +0700
 
PREVIOUS NEXT
Tagged:
ADD COMMENT
Topic
Name
2+2 =