Search
 
NEWS
 

ทำความรู้จัก "เลเเคเนเเม็บ" ยาขั้นทดลองสำหรับโรคอัลไซเมอร์

 
 
เมื่อปลายเดือนที่เเล้ว บริษัทผู้ผลิตยาของญี่ปุ่น เอไซ (Eisai) และ ไบโอเจน (Biogen) ของสหรัฐฯ เปิดเผยผลการทดสอบยาบำบัดโรคอัลไซเมอร์ ที่ชื่อ "เลเเคเนเเม็บ"(lecanemab) ที่เป็นยาฉีดเข้าเส้นเลือดและอยู่ในขั้นทดลอง การศึกษาชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการชะลอการเสื่อมของสมอง แม้ผลการวิจัยจะให้ความหวังต่อวงการเเพทย์ หลังจากยาชนิดก่อน ๆ มักไม่ประสบความสำเร็จในการต่อสู่กับโรคนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า "เลเเคเนเเม็บ" จะสามารถเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ได้มากน้อยเท่าใด การเปิดเผยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่เป็นผลการทดลองใช้ยากับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้นจำนวน 1,800 ราย ชี้ให้เห็นว่า "เลเเคเนเเม็บ" สามารถชะลอการเสื่อมลงของสมองได้ราว 5 เดือนจากช่วงระยะเวลาการทดลอง 18 เดือน จากข้อมูลของนายแพทย์ไมเคิล ไอริซาร์รี แห่งบริษัทเอไซ ที่บอกกับสำนักข่าวเอพี นอกจากนี้ ผู้ป่วยระยะเริ่มแรกเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงลดลง 31% ที่จะป่วยเข้าสู่ระดับอัลไซเมอร์ขั้นถัดไป ซึ่งนายแพทย์ไอริซาร์รีกล่าวว่า นั่นหมายถึงระยะเวลานานขึ้นสำหรับการอยู่ในระดับเริ่มต้น การศึกษานี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The New England Journal of Medicine ข้อสรุปของการศึกษาคือ ผู้ที่ได้รับยา "เลเเคเนเเม็บ" มีความเสื่อมของสมองช้าลง โดยระดับการชะลอ อยู่ที่ไม่ถึงครึ่งขั้นของหน่วยวัดทางการแพทย์ที่มีทั้งหมด 18 ระดับ ยา "เลเเคเนเเม็บ" จะเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้มากน้อยอย่างไร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังคงไม่สามารถสรุปว่ายาชนิดนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้มากน้อยอย่างไร นอกจากนั้นยังพบว่ามีความเสี่ยงจากอาการสมองบวม นายแพทย์แมดฮาฟ ธามบิเซตตี แห่งหน่วยงาน National Institute of Aging กล่าวว่า “เป็นไปได้ยากที่ความแตกต่างเพียงเล็กน้อย (ต่อการชะลอความเสื่อมลงของสมอง) ที่อยู่ในรายงานงานทดลอง จะให้ผลที่เห็นอย่างประจักษ์ ต่อผู้ป่วยแต่ละคน” เขาบอกว่า ความเห็นของตนนี้ ไม่ได้เป็นการพูดในฐานะตัวแทนองค์กรของรัฐ นายแพทย์ธามบิเซตตี บอกด้วยว่า ผลของยาที่ช่วยผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ควรแสดงค่าการชะลอของโรคที่ อย่างน้อยหนึ่งขั้นของหน่วยวัด 18 ระดับ แต่นายแพทย์รอน พีเตอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านอัลไซเมอร์แห่งสถาบันเมโย คลินิก ของสหรัฐฯ กล่าวว่า แม้ประสิทธิผลของ "เลเเคเนเเม็บ" มีไม่มาก แต่ก็มีความหมายในการบำบัดผู้ป่วย เพราะการเสื่อมช้าลงของสมองเพียงไม่กี่เดือนหมายความว่า ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง และสำหรับครอบครัวผู้ป่วยการมีชีวิตที่ยังสามารถมีความสุขร่วมกันได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ย่อมมีความหมายทางจิตใจด้วย ตามทัศนะของมาเรีย คาร์ริลโล หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสมาคม Alzheimer’s Association ทั้งนี้ ในการศึกษาการใช้ยา "เลเเคเนเเม็บ" มีผู้ป่วยสองรายเสียชีวิต และทั้งสองใช้ยาที่ทำให้เลือดจางลงเพื่อรักษาปัญหาทางสุขภาพด้านอื่น บริษัทเอไซกล่าวว่า ยาชนิดนี้ไม่ใด้เป็นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต การทำงานของยา "เลเเคเนเเม็บ" ข้อมูลในในรายงานของเอพี ชี้ว่ายาชนิดนี้มุ่งเป้าโจมตีสารโปรตีนที่เรียกว่า อะมิลอยด์ (amyloid) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของอัลไซเมอร์ และรอยเตอร์รายงานว่า ยายังสามารถลดระดับสารเทา (tau) สารโปรตีนอีกชนิดหนึ่งที่สร้างเส้นใยที่เป็นพิษต่อเซลล์สมองด้วย มาเรีย คาร์ริลโลแห่งสมาคม Alzheimer’s Association บอกว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์มีโอกาสทำความเข้าใจกระบวนการชะลอโรคอัลไซเมอร์ โดยทั่วไป ยาที่มีฤทธิ์โจมตีสารอะมิลอยด์ อาจทำให้สมองบวมและมีเลือดออกได้ ซึ่งก็เป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจาก"เลเเคเนเเม็บ" เช่นกัน ลักษณะของอาการสมองบวมชนิดหนึ่งพบใน 13% ของผู้ใช้ยานี้ ขณะที่บริษัทเอไซกล่าวว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในการทดลองมีอาการแทรกซ้อนลักษณะนี้แค่อ่อนๆ เท่านั้นหรือไม่แสดงอาการเลย โอกาสของการใช้จริงอย่างแพร่หลาย องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA มีกำหนดพิจารณาภายในวันที่ 6 มกราคมปีหน้า ว่าจะอนุมัติให้การตรวจสอบยา "เลเเคเนเเม็บ" สามารถดำเนินการ “อย่างเร่งด่วน” ได้หรือไม่ ในขั้นตอนดังกล่าวผู้ผลิตต้องแสดงผลจากการตรวจร่างกายผู้ใช้ ที่เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ เช่น การลดลงของ อะมิลอยด์เบตาในสมอง ตามรายงานของรอยเตอร์ ในการสัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ ประธานบริษัทเอไซ สำนักงานที่สหรัฐฯ ไอวาน ชุง กล่าวว่า ไม่ว่า FDA จะตัดสินเช่นใดเรื่องการขอเร่งรัด บริษัทของเขาก็จะยื่นเรื่องให้ยาชนิดนี้ได้รับการตรวจสอบ ผ่านกระบวนการปกติอยู่แล้ว และจะเดินเรื่องให้ได้รับการพิจารณาโดยเจ้าหน้าที่ในยุโรปและญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน นายแพทย์ พีเตอร์สันแห่งสถาบันเมโย คลินิก กล่าวว่า หากยาได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ในสหรัฐฯ ในระยะเริ่มแรกเขาจะยังไม่สั่ง "เลเเคเนเเม็บ" ให้กับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่ต้องใช้ยานี้คู่ขนานกับยาที่ทำให้เลือดจางลง ตามรายงานของเอพี หากว่าผ่านการตรวจสอบของ FDA "เลเเคเนเเม็บ" จะเป็นยาต้านอะมิลอยด์ ชนิดที่สองที่มีการจำหน่าย ยาชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติจากทางการสหรัฐฯ คือ “อะดูเฮล์ม” ของบริษัทไบโอเจน เมื่อปีที่แล้ว แต่ “อะดูเฮล์ม” ถูกวิจารณ์ว่า ผ่านการตรวจสอบของ FDA แม้มีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอ ตามรายงานของเอพี และที่ผ่านมามีการใช้น้อยเพราะราคาแพงและ ในตอนนั้นวงการแพทย์รอคอยผลของการศึกษา "เลเเคเนเเม็บ"อยู่ ที่มา: เอพี รอยเตอร์ - READ MORE
By thai@voanews.com (VOA)
Wed, 07 Dec 2022 05:49:51 +0700
 
PREVIOUS NEXT
Tagged:
ADD COMMENT
Topic
Name
7+5 =