Search
 
NEWS
 

มีส่วนร่วม-คุยกันด้วยข้อมูล คือกุญแจการจัดการน้ำโขงร่วมกัน: รายงาน

 
 
ตัวแทนชุมชนและผู้เชี่ยวชาญด้านแม่น้ำโขงหารือแนวทางจัดการแม่น้ำร่วมกัน ผุดข้อเสนอ สร้างฐานข้อมูลทรัพยากรแต่ละประเทศ เสริมความร่วมมือทุกภาคส่วน แก้ภาวะวิกฤติน้ำโขงไหลที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ การหารือ US - Mekong Partnership track 1.5 ที่ได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 17-18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ จ.เชียงราย ประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐ เอกชน องค์กรระหว่างประเทศและตัวแทนชุมชนลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศเข้าร่วม เพื่อทำข้อเสนอทางนโยบายที่นำไปสู่การใช้แม่น้ำสายนานาชาตินี้อย่างยั่งยืนและได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยสรุป การหารือเห็นว่าต้องมีคณะกรรมการตัวแทนจากภาคประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นเวทีสื่อสารข้อเสนอไปยังภาครัฐ ต้องพัฒนาข้อตกลงของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ให้ตอบโจทย์การจัดการทรัพยากรร่วมกัน ให้รัฐบาลจัดการน้ำให้ไหลตามฤดูกาล และทำฐานข้อมูลทรัพยากรตะกอนทรายในแม่น้ำเพื่อนำไปสู่การบริหารทรัพยากรร่วมกัน ที่ผ่านมา จีนและสหรัฐฯ ต่างวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของแต่ละฝ่ายในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง เมื่อปี 2020 ศูนย์ Stimson หน่วยงานคลังสมอง ที่ได้รับการสนับสนุนจาก US-Mekong Partnership จัดทำโครงการ Mekong Dam Monitor ด้วยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมสังเกตผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ที่เกิดจากเขื่อนที่จีนสร้างที่ต้นน้ำ ในขณะที่จีนก็วิพากษ์วิจารณ์ US-Mekong Partnership ว่าเป็นกระบอกเสียงของสหรัฐฯ ที่ใช้โจมตีโครงการพัฒนาเขื่อนของจีน  การตอบโต้ดังกล่าวดำเนินไปท่ามกลางข้อกังวลถึงความเป็นไปของตัวแม่น้ำโขง ที่นอกจากจะเห็นรายงานระดับน้ำที่ลดลง หรือสีแม่น้ำโขงที่ใสเพราะขาดตะกอนบนหน้าสื่อแล้ว  ผลการศึกษาของ MRC ในปี 2019-2021 ยังพบว่าระดับน้ำในปีดังกล่าวอยู่ในระดับที่ลดลงมากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบมากกว่า 60 ปี ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยทางสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และโครงการกักเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนบน จูเลียน คัทชีนอฟ จากสำนักงานด้านการอนุรักษ์และน้ำ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในเวทีนำเสนอรายงานการประชุมในวันพฤหัสนี้ (28 กันยายน) ว่า ใจกลางของการบริหารจัดการน้ำคือการบริหารจัดการความขัดแย้งที่เกิดจากการใช้งานหลายแบบ และต้องการแนวทางการบริหารจัดการที่รับฟังเสียงจากหลายด้าน “แม่น้ำโขงเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในฐานะภูมิภาคที่เข้ามาร่วมมือกันเพื่อแบ่งปัน เพื่อปกป้อง และฟื้นฟูทรัพยากรที่สำคัญ” คัทชีนอฟกล่าว  ยก เซ็งลอง ผู้อำนวยการบริหารจากองค์กร Fisheries Action Coalition Team (FACT) ภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องทรัพยากรประมงในกัมพูชา กล่าวว่า การประมงในแม่น้ำโขงของกัมพูชา โดยเฉพาะพื้นที่โตนเลสาบได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาอย่างเขื่อนหลายแห่งและการปล่อยมลพิษลงแม่น้ำของคนที่อยู่ในพื้นที่ และปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลเท่าที่ควร  แอง ฮา ฮุย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรทราย จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประจำประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ตะกอนดินทรายที่ควรถูกพัดพามาจากตอนบนของแม่น้ำโขง ถูกรบกวนจากการสร้างเขื่อนและธุรกิจดูดทรายในแม่น้ำเพื่อนำมาใช้ประโยชน์บนบก ทำให้พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำในเวียดนามเปราะบางต่อการถูกน้ำทะเลกัดเซาะ  เขาเสนอว่าต้องมีฐานข้อมูลเพื่อเฝ้าดูระดับทรายที่เป็นระบบร่วมกันระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งอาจจะทำภายใต้กลไกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อหาสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและลดผลกระทบด้านลบอื่น ๆ ต่อความมั่นคงทางอาหารและตัวแม่น้ำเอง ต่อคำถามเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของจีนในการร่วมกันพัฒนานี้ คะเนกา เคโอ จากองค์กรไม่แสวงหากำไร Oxfam ประเทศกัมพูชา ตอบว่าปัจจุบัน ตัวแทนจากประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างได้มีการหารือกับตัวแทนจากพม่าและจีน ซึ่งนับเป็นประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบนแล้ว แต่สิ่งที่จำเป็นก็คือโรดแมปสำหรับการร่วมมือกันในทุกระดับ ที่ผ่านมา จีนก็มีการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับน้ำให้กับ MRC และยังประกาศเมื่อราวสองสัปดาห์ที่แล้วด้วยว่าจะมีการแบ่งปันข้อมูลเพิ่มเติมอีก แม่น้ำโขงมีความยาวราว 4,800 กม. และไหลผ่านประเทศ 6 ประเทศ ได้แก่จีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่ผ่านมา ชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างกัมพูชา ลาว ไทยและเวียดนามพยายามหาทางใช้ประโยชน์ในแม่น้ำร่วมกันผ่านคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) มาตั้งแต่ปี 1995 แต่ก็ยังมีบทบาทอย่างจำกัด  ทั้งนี้ US-Mekong Partnership เป็นความพยายามของสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดในการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศลุ่มน้ำโขง เป็นการต่อยอดจากกรอบความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (LMI) ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2009-2020 เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นอิสระ และมีธรรมาภิบาลของประเทศลุ่มน้ำโขง ข้อมูลเพิ่มเติมจาก: Global Times, MRC - READ MORE
By thai@voanews.com (Yiamyut Sutthichaya)
Fri, 29 Sep 2023 05:56:24 +0700
 
PREVIOUS NEXT
Tagged:
ADD COMMENT
Topic
Name
6+3 =