ข้อมูลของกลุ่มส่งเสริมสุขภาพด้านมะเร็งในแอฟริกา ระบุว่า ประเทศไนจีเรียมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมราว 19,000 คนต่อปี และผู้เชี่ยวชาญยังชี้ด้วยว่า อัตราการเสียชีวิตดังกล่าวกำลังปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ป่วยต้องรอการตรวจคัดกรองนานเกินไป
ในปี 2017 เคมิโซลา โบลารินวา สูญเสียคุณป้าของเธอไปจากโรคมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 โดยเธอเล่าว่า ในความคิดของคุณป้านั้น โรคมะเร็งเป็นฝีมือของภูตผีวิญญาณและเลือกที่จะอ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยรักษาอาการดังกล่าว และหลังจากที่โบลารินวาไว้ทุกข์เสร็จ เธอตัดสินใจที่จะลงมือทำบางอย่างเพื่อช่วยชีวิตของผู้หญิงคนอื่น ๆ
โบลารินวา เล่าว่า จากการที่ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งที่ดูแลคุณป้า เธอพบว่า หากผู้ป่วยสามารถตรวจพบมะเร็งชนิดนี้ได้ในระยะเริ่มต้น ก็จะมีโอกาสที่จะรักษาได้ และเมื่อลองไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม เธอก็พบข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่ตรวจพบได้ในระยะแรกจำนวน 9 ใน 10 คนสามารถรักษาอาการดังกล่าวให้หายได้
วิศวกรหญิงรายนี้จึงคิดค้นสิ่งที่เรียกว่า “ยกทรงอัจฉริยะ” หรือว่า “Smart Bra” ที่จะสามารถวัดค่าบริเวณทรวงอกและถ่ายทอดผลตรวจที่ได้ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือภายระยะเวลาเพียง 30 นาที และเธอคาดว่า บราอัจฉริยารุ่นแรกน่าที่จะเปิดตัวออกมาใช้งานได้ในเดือนเมษายนปีหน้า
โบลารินวา บอกว่ากับ วีโอเอ ว่า เธอได้เปิดตัวชิ้นงานต้นแบบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและได้เสียงตอบรับจากผู้คนทั่วโลก รวมทั้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ที่ให้คำแนะนำการเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์ดังกล่าวให้ด้วย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชี้ว่า ในแต่ละปี ประเทศไนจีเรียมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณ 72,000 ราย และในจำนวนนี้ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมคือกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตที่สูงที่สุด โดยพวกเขามองว่า การตรวจพบที่ล่าช้า คือ สาเหตุสำคัญ
กลอเรีย ชินเยียร์ โอคูว คือ หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมหลังได้รับการผ่าตัดในปี 2017 แต่เธอต้องต่อสู้กับภาวะความเครียดและการถูกเลือกปฏิบัติภายหลังการผ่าตัดมาโดยตลอด
และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โอคูว ตัดสินใจถ่ายภาพเปลือยอกที่แสดงแผลหลังการตัดเต้านม เพื่อเอาชนะความกังวลเกี่ยวกับรอยแผลเป็นที่เธอมี นอกจากนี้ เธอยังทำงานที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Project Pink Blue ที่รณรงค์ส่งเสริมความรู้เพื่อต่อสู้กับมะเร็งเต้านม โดยเธอหวังว่า จะสามารถช่วยผู้ที่รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมให้ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
โอคูว เล่าว่า เธอบอกกับคนที่เป็นมะเร็งว่า การป่วยด้วยโรคนี้ไม่ใช่เป็นคำพิพากษาประหารชีวิต และพวกเขาต้องไม่หมดหวัง และต้องเชื่อว่า ทุกอย่างจะดีขึ้น พร้อมตั้งความหวังว่า ในวันหนึ่ง เราจะสามารถรักษาโรคมะเร็งได้สำเร็จ
ในเดือนธันวาคมปี 2017 ประธานาธิบดีของไนจีเรียได้ลงนามในร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยและการรักษาโรคมะเร็งแห่งชาติ และในปีถัดมา ภาครัฐได้เริ่มดำเนินแผนงานมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ ที่มีระยะเวลา 4 ปีเพื่อควบคุมโรคมะเร็ง โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น
อย่างไรก็ดี รูนซี ชิเดเบ นักเคลื่อนไหวด้านการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง มองว่า โครงการของภาครัฐได้รับเงินทุนที่ไม่เพียงพอ รวมทั้ง ยังมีการดำเนินงานที่ย่ำแย่ด้วย
ชิเดเบ ให้ความเห็นว่า ไนจีเรียมีระบบสาธารณสุขที่ย่ำแย่อย่างมาก โดยตัวระบบนั้นมีความซับซ้อนเกินไป ทั้งยังเป็นระบบที่ไม่ได้นำเสนอบริการตรวจคัดกรองมะเร็งให้กับประชาชนเลย
ทางด้าน แพทย์หญิงฟาติมา ดามแบททา จากมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร Medicaid Cancer Foundation เปิดเผยว่า ตลอดเดือนตุลาคมที่ผ่าน องค์การไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพร่วมกับจัดงานรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งในในจีเรีย ที่มุ่งส่งเสริมการตรวจคัดกรองแต่เนิ่น ๆ และการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์
แพทย์หญิง ดามแบททา กล่าวว่า การพบผู้ป่วยโรคมะเร็งมากขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งการบริโภคอาหารหมักดอง ไปจนถึง การออกกำลังกายที่น้อยลง การกินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และปัจจัยอื่น ๆ
ท้ายสุด โบลารินวา วิศวกรหญิงผู้คิดค้นอุปกรณ์ “ยกทรงอัจฉริยะ” เชื่อว่า อุปกรณ์ที่เธอประดิษฐ์ขึ้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การตรวจมะเร็งเต้านมทำได้อย่างว่องไว โดยจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมผู้ป่วยกับบริการด้านการแพทย์ที่จำเป็นได้ และในขณะนี้ เธอกำลังกำลังมองหาความร่วมมือจากภาครัฐ เพื่อที่จะนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปใช้ในคลินิกท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้หญิงที่สนใจสามารถขอรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้โดยไม่ยากเย็น
ที่มา: วีโอเอ
- READ MORE