โมเมนตัม MOMEMTUM
โมเมนตัมเป็นเครื่องมือ OSCILLATOR ที่นิยมใช้ในระยะสั้นอีกตัวหนึ่ง ที่สามารถใช้วัดการแกว่งตัวของราคา และเนื่องจากเป็นเครื่องมือระยะสั้น จึงเป็นเครื่องมือที่มักจะสวนทางกับแนวโน้มของราคา (COUNTER TREND) โดยจะนำมาใช้ดูสภาพในช่วงสั้น ของตลาดว่าขณะนั้นอยู่ในภาวะ”ซื้อมากจนเกินไป” (OVERBOUGHT) หรือ “ขายมากจนเกินไป” (OVERSOLD)
สูตรของโมเมนตัม
MOMENTUM = P – Pn
P = ราคาปิดปัจจุบัน
Pn = ราคาปิดเมื่อ n วันที่ผ่านมา
หลังจากที่ได้ค่าความแตกต่างของราคา ที่กำหนดช่วงต่างของเวลาไว้แน่นอนแล้ว นำค่าที่ได้มาทำเป็นเส้นกราฟ จะได้เส้นกราฟที่มีเส้นกึ่งกลาง (เส้นศูนย์) และจะมีส่วนที่เป็นค่าบวกและค่าลบ รูปแบบเครื่องมือโมเมนตัมจะมีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหว ขึ้นลงอยู่ในช่วงแคบ ๆ โดยช่วงบนจะเป็นการบอกภาวะ”ซื้อมากจนเกินไป” และช่วงล่างจะเป็นการบอกภาวะ “ขายมากจนเกินไป”
ปกติถ้าใช้ช่วงเลาสั้น ๆ เส้นโมเมนตัมจะปรับตัวขึ้นลงเร็วขึ้น แต่ถ้าใช้ช่วงเวลาที่ยาวขึ้น เส้นโมเมนตัมจะปรับตัวขึ้นลงช้ากว้า ทั้งนี้การเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมมีข้อสังเกตว่า
เนื่องจากหุ้นบางประเภทมีการซื้อขายสม่ำเสมอ และระดับราคามีการเหวี่ยงตัวไม่มากนัก เช่นหุ้นที่มีทุนจดทะเบียนสูง หรือหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี จะมีรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ให้ภาพชัดเจน และสามารถอ่านทิศทางได้ง่าย หุ้นประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องใช้โมเมนตัม แต่สำหรับหุ้นที่มีการเคลื่อนไหวขึ้นลงอย่างรวดเร็ว โดยในตลาดหลักทรัพย์ไทยหุ้นประเภทนี้ มักจะเป็นหุ้นที่มีราคาต่ำ จะเหมาะกับการวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือโมเมนตั้ม เนื่องจากจะเห็นรูปแบบที่ชัดเจนกว่า
ประโยชน์ของเครื่องมือโมเมนตั้ม
- ใช้สำหรับการลงทุนในช่วงสั้น สามารถนำมาใช้เป็นสัญญาณ เตือนว่า ในช่วงระยะเวลานั้น ราคาหุ้นได้ดีขึ้นมาจนถึงที่สุดแล้ว และน่าจะมีการปรับตัวขึ้นทางเทคนิค โดยหุ้นแต่ละตัวจะมีระดับสูงสุดของโมเมนตัมต่างกัน
- สามารถนำมาใช้กับสภาพตลาดที่ยังไม่มีทิศทาง (TRENDLESS) หรือในสภาพตลาดที่เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบ ๆ ที่เป็นไปใน ลักษณะแนวนอน (SIDEWAYS)
- นำมาใช้เป็นสัญญาณเตือนว่า แนวโน้มของตลาดที่กำลังมีทิศทางขึ้นหรือลงนั้น “พละกำลัง” ใกล้จะอ่อนตัวลงหรือยังโดยสัญญาณเตือน จะแสดงออกมาในรูปของการแยกทางออก (DIVERGENCE) ของราคาหุ้นกับเส้นโมเมนตัม โดยเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ตรงข้ามกัน
การอ่านเครื่องมือโมเมนตั้ม
การอ่านเครื่องมือโมเมนตั้ม เป็นการดูอัตราเร่งของการเคลื่อนตัวสูงขึ้น หรือการลดต่ำลงของราคาหุ้น เนื่องจากเครื่องมือนี้ เป็นเครื่องมือที่วัดการแกว่งตัวของราคาหุ้น โดยมีเส้นกึ่งกลาง (CENTER LINE) เป็น จุดบอก เส้นกึ่งกลางนี้จะเป็นเส้น ZERO LINE
ถ้าราคากำลังมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่เส้นโมเมนตั้มก็อยู่เหนือเส้นกึ่งกลาง และกำลังมีทิศทางสูงขึ้นเช่นกัน จะเป็นสัญญาณบอกให้ทราบว่าราคากำลังเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการชี้ว่าทิศทางราคาหุ้นจะพุ่งสูงขึ้นต่อไปได้
ถ้าเส้นโมเมนตั้มเคลื่อนที่ในแนวราบที่ระดับ 0 แสดงว่าราคาปิดล่าสุดไม่มีความแตกต่างจากราคาปิดเมื่อ n วันที่ผ่านมา และบอกถึงแนวโน้มราคาที่จะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบ ๆ (SIDEWAYS) และเมื่อเส้นโมเมนตั้มอ่อนตัวลง แม้ราคาจะมีแนวโน้มสูงขึ้นก็ตาม จะเป็นสัญญาณเตือนว่า ราคาที่สูงขึ้นนั้นกำลังจะหมดแรง
ถ้าเส้นโมเมนตั้มเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นกึ่งกลาง แสดงว่าราคากำลังตกลงเรื่อย ๆ โดยมีแนวโน้มลง (DOWNTREND)
ข้อสังเกตที่สำคัญมากสำหรับการวิเคราะห์โมเมนตั้ม คือ เครื่องมือนี้เป็นการวัดราคาที่แตกต่างกันในช่วงเวลาที่กำหนดให้ เช่น เส้นโมเมนตั้ม 10 วัน จะเป็นการดูราคาปัจจุบันเปรียบเทียบกับราคาใน 10 วันก่อน
ดังตัวอย่างต่อไปนี้
วันที่ | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 |
ราคาปิด | 100 | 102 | 107 | 108 | 106 | 107 | 104 | 108 | 109 | 108 |
วันที่ | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
ราคาปิด | 110 | 115 | 116 | 114 | 112 | 110 | 111 | 113 | 111 | 108 |
ผลต่าง(10 วัน) | 10 | 13 | 9 | 6 | 6 | 3 | 7 | 5 | 2 | 0 |
เมื่อพิจารณาจากตารางแสดงราคาปิดและคิดค่าโมเมนตั้ม 10 วัน จะพบว่า ผลต่างของราคาปิดเมื่อวันที่ 12 กับวันที่ 2 มากกว่าผลต่างของราคาปิดเมื่อวันที่ 11 กับวันที่ 1 แสดงว่าเส้นโมเมนตั้มมีแนวโน้มสูงขึ้น และจะพบว่า ผลต่างของราคาปิดเมื่อวันที่ 15 กับวันที่ 5 มีค่าเท่ากับผลต่างของราคาปิดเมื่อวันที่ 14 กับวันที่ 4 แสดงว่าเส้นโมเมนตั้มจะเคลื่อนที่ในแนวราบ และถ้าพิจารณาต่อไปจะพบว่า ผลต่างของราคาปิดเมื่อวันที่ 18 กับวันที่ 8 มีค่าน้อยกว่าผลต่างของราคาปิดเมื่อวันที่ 17 กับวันที่ 7 ซึ่งแสดงว่าเส้นโมเมนตั้มจะมีแนวโน้มลดลง แม้ว่าราคาจริงอาจจะยังมีแนวโน้มสูงขึ้นก็ตาม ดังนั้น เส้นโมเมนตั้มจะเป็นตัวชี้นำแนวโน้มของราคาล่วงหน้าอย่างน้อยก้าวหนึ่ง ก่อนที่ราคาจริงจะเริ่มเปลี่ยนทิศทาง