ดัชนีปริมาณหุ้นสะสม
ON BALANCE VOLUME (OBV)
ดัชนีปริมาณหุ้นสะสม (OBV) เป็นเครื่องมือที่ดูความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการซื้อขาย (VOLUME) กับการเคลื่อนไหวของราคา ซึ่งสามารถบอกถึงแนวโน้มของตลาดหรือหุ้นได้ โดยใช้หลักของ DEMAND-SUPPLYที่ระบุว่า “ราคาหุ้นจะไม่ขึ้นจนกว่า DEMAND จะมากกว่า SUPPLY”
ดัชนีปริมาณหุ้นสะสม คือ การดูปริมาณหุ้นซื้อขายสะสม โดยนำเอาปริมาณซื้อขายไปบวก เมื่อราคาปิดของวันนั้นสูงกว่าราคาปิดของวันก่อน และเอาปริมาณซื้อขายไปลบ เมื่อราคาปิดของวันนั้นต่ำกว่าราคาปิดของวันก่อน ถ้าปริมาณหุ้นสะสมเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้นชัดเจนกว่าราคา แสดงว่ากำลังมีเงินจากผู้ลงทุนบางรายเข้ามาซื้อสะสมหุ้นมากขึ้น แต่ถ้าทั้งราคาและปริมาณสะสมวิ่งขึ้นไปด้วยกัน หมายถึงผู้ลงทุนทั่วไปเข้ามาทำการซื้อขายร่วมด้วย ส่วนถ้าราคาขึ้นก่อนปริมาณสะสม ยังไม่ถือว่าเป็นการยืนยันการขึ้นของราคาหุ้นแต่อย่างใด
วิธีหาค่าของ OBV สามารถทำได้ดังนี้ :-
- ผู้ลงทุนต้องเลือกตัวเลขปริมาณหุ้นเริ่มแรก อาจจะเป็น O หรือ 1,000 หรือ 10,000 หรือตัวเลขอื่นก็ได้
- ถ้าราคาปิดของหุ้น ณ วันที่เริ่มคำนวณสูงกว่าราคาปิดของวันก่อน ก็ให้นำปริมาณหุ้นที่ซื้อขายกันสำหรับหุ้นในวันนั้น บวกเข้ากับตัวเลขเริ่มแรก แต่ถ้าราคาปิดของหุ้น ณ วันที่เริ่มคำนวณต่ำกว่าราคาปิดของวันก่อน ก็จะนำปริมาณหุ้นที่ซื้อขายในวันนั้นไปลบออกจากตัวเลขเริ่มแรกนั้น
- ถ้าราคาปิดของหุ้นในวันปัจจุบันสูงขึ้นจากวันก่อน ให้นำปริมาณการซื้อขายของวันปัจจุบันมาบวกเข้ากับ ปริมาณการซื้อขายสะสมจากวันก่อน แต่ถ้าราคาปิดต่ำลง ให้นำปริมาณการซื้อขายของวันปัจจุบัน มาหักจากปริมาณการซื้อขายสะสม ถ้านำค่าปริมาณการซื้อขายสะสมไปกำหนดเป็นเส้นกราฟจะได้เส้น OBV ที่นำไปใช้วิเคราะห์แนวโน้มหรือทิศทาง (DIRECTION) ของราคาหรืออาจเขียนในรูปสูตรได้ใน 2 กรณี ดังนี้
กรณีราคาปิดวันนี้สูงกว่าราคาปิดวันก่อน
OBV วันนี้ = OBV สะสมจากวันก่อน + ปริมาณการซื้อขายวันนี้
กรณีราคาปิดวันนี้ต่ำกว่าราคาปิดวันก่อน
OBV วันนี้ = OBV สะสมจากวันก่อน – ปริมาณการซื้อขายวันนี้
เส้น OBV ควรจะมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับแนวโน้มราคา (CONFIRMATION) คือถ้าราคามีแนวโน้มสูงขึ้น (UPTREND) เส้น OBV ก็ควรจะมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณว่าราคาหุ้นนั้นยังมีแนวโน้มไปในทิศทางเดิมอยู่ เนื่องจากมีแรงซื้อเข้ามาสนับสนุนมากพอ แต่ถ้าราคามีแนวโน้มต่ำลง (DOWNTREND) เส้น OBV ก็ควรมีแนวโน้มต่ำลงด้วย
แต่ถ้า OBV มีทิศทางต่างกันกับแนวโน้มของราคา (DIVERGENCE) อาทิเช่น เส้นราคาไต่ระดับสูงขึ้น แต่เส้น OBV มีแนวโน้ม ลดต่ำลงก็จะเป็นสัญญาณว่าแรงซื้อได้อ่อนตัวลง และอาจทำให้ราคาเปลี่ยนทิศทางเป็นลงได้
การใช้เส้น OBV เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์แนวโน้มของราคานั้นสามารถแยกวิเคราะห์ได้ดังนี้
- ถ้าราคาหุ้นมีราคาสูงสุดครั้งใหม่พร้อมกับ OBV ด้วย หรือราคาหุ้นลดลงเป็นราคาต่ำสุดครั้งใหม่พร้อมกับเส้น OBV จะเป็นการยืนยันการขึ้นและลงของราคาหุ้น แต่ถ้าราคามีแนวโน้มลดลงในขณะที่แนวโน้มของเส้น OBV ยังสามารถขยับสูงขึ้นเป็นค่าสูงสุดครั้งใหม่ จะเป็นการยืนยันว่าราคาจะต้องขยับสูงขึ้นอีกครั้ง
- โดยการใช้เส้นแนวโน้ม (TRENDLINES) เป็นเส้นแนวต้าน หรือเส้นสนับสนุน เมื่อเส้น OBV ตัดผ่านเส้นแนวต้าน เป็นสัญญาณว่าแนวโน้มของราคาจะขึ้น
- โดยการใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (MOVING AVERAGE) สัญญาณซื้อเกิดขึ้นเมื่อเส้น OBV มีลักษณะอยู่ในแนวโน้มขึ้นและตัดเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ขึ้น และสัญญาณขายเกิดขึ้นเมื่อเส้น OBV กำลังลดลงและตัดเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ลง
การตีความหมายของเส้น OBV
การเคลื่อนที่ของราคา | การเคลื่อนที่ของเส้น OBV | การตีความหมาย |
ขึ้น | ขึ้น
ไปข้าง ๆ ลง |
แนวโน้มขึ้นชัดเจน
แนวโน้มขึ้นปานกลาง แนวโน้มขึ้นปานกลาง |
ไปข้าง ๆ | ขึ้น
ไปข้าง ๆ ลง |
ระยะสะสมของหุ้นก่อนแนวโน้มเปลี่ยนเป็นขึ้น
ไม่บอกถึงแนวโน้ม ระยะแจกจ่ายหุ้นก่อนแนวโน้มเปลี่ยนเป็นลง |
ลง | ขึ้น
ไปข้าง ๆ ลง |
แนวโน้มลงใกล้จะจบ
แนวโน้มลงปานกลาง แนวโน้มลงชัดเจน |