ศิลปะ
ตำราว่าด้วยวิชาความรู้ต่างๆ มี ๑๘ ประการ เช่นตำราว่าด้วยการคำนวณ ตำรายิงธนู เป็นต้น อันได้มีการเรียนการสอนกันมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล; ๑๘ ประการนั้นมีหลายแบบ ยกมาดูแบบหนึ่งจากคัมภีร์โลกนิติ และธรรมนิติ ได้แก่ ๑. สูติ ความรู้ทั่วไป ๒. สัมมติ ความรู้กฎธรรมเนียม๓. สังขยา คำนวณ ๔. โยคยันตร์ การช่างการยนตร์ ๕. นีติ นิติศาสตร์ ๖. วิเสสิกา ความรู้การอันให้เกิดมงคล ๗. คันธัพพา วิชาร้องรำ ๘. คณิกา วิชาบริหารร่างกาย ๙. ธนุพเพธา วิชายิงธนู ๑๐. ปุราณา โบราณคดี ๑๑. ติกิจฉา วิชาแพทย์ ๑๒. อิติหาสา ตำนานหรือประวัติศาสตร์ ๑๓. โชติ ดาราศาสตร์ ๑๔. มายา ตำราพิชัยสงคราม ๑๕. ฉันทสา การประพันธ์๑๖. เกตุ วิชาพูด ๑๗. มันตา วิชามนต์ ๑๘. สัททา วิชาไวยากรณ์ , ทั้ง ๑๘ อย่างนี้โบราณเรียกรวมว่าสิปปะ หรือศิลปะ ไทยแปลออกเป็นศิลปศาสตร์ (ตำราว่าด้วยศิลปะต่างๆ); แต่ในสมัยปัจจุบัน ได้แยกความหมายศิลปะ กับศาสตร์ ออกจากกัน คือศิลปะหมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุประสงค์ตรงความงาม เช่น ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์และจิตรกรรม เป็นต้น ศาสตร์ หมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุประสงค์ตรงความจริง เช่น คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น