วิมาน
สุขเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะและปวงทุกข์; พระพุทธเจ้าภายหลังตรัสรู้แล้วใหม่ ๆ ได้เสวยวิมุตติสุข ๗ สัปดาห์ตามลำดับคือ สัปดาห์ที่ ๑ ประทับภายใต้ร่มไม้มหาโพธิ์ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทสัปดาห์ที่ ๒ เสด็จไปประทับยืนด้านอีสาน ทรงจ้องดูต้นมหาโพธิ์ไม่กระพริบพระเนตร ที่นั้นเรียกว่า อนิมิสเจดีย์สัปดาห์ที่ ๓ ทรงนิรมิตที่จงกรมขึ้นระหว่างกลางแห่งพระมหาโพธิ์และอนิมิสเจดีย์ เสด็จจงกรมตลอด ๗ วัน ที่นั้นเรียก รัตนจงกรมเจดีย์ สัปดาห์ที่ ๔ ประทับนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎก ณ เรือนแก้วที่เทวดานิรมิตในทิศพายัพแห่งต้นมหาโพธิ์ที่นั้นเรียก รัตนฆรเจดีย์ สัปดาห์ที่ ๕ ประทับใต้ร่มไม้ไทร ชื่ออชปาลนิโครธ ทรงตอบปัญหาของพราหมณ์หุหุกชาติ แสดงสมณะและพราหมณ์ที่แท้ พร้อมทั้งธรรมที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่าธิดามาร ๓ คน ได้มาประโลมพระองค์ ณ ที่นี้ สัปดาห์ที่ ๖ ประทับใต้ต้นไม้จิก ชื่อ มุจจลินท์ มีฝนตก มุจจลินทนาคราชมาวงขนดแผ่พังพานปกป้องพระองค์ ทรงเปล่งอุทานแสดงความสุขที่แท้ อันเกิดจากการไม่เบียดเบียนกัน เป็นต้น สัปดาห์ที่ ๗ ประทับใต้ต้นไม้เกต ชื่อราชาตนะ พาณิช ๒ คน คือ ตปุสสะ และภัลลิกะ เข้ามาถวายสัตตุผง สัตตุก้อน และได้แสดงตนเป็นปฐมอุบาสกถึงสรณะ ๒ เมื่อสิ้นสัปดาห์ที่เจ็ด ณ ที่นี้แล้ว เสด็จกลับไปประทับใต้ต้นอชปาลนิโครธอีก ทรงดำริถึงความลึกซึ้งแห่งธรรมที่ตรัสรู้คือ ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน แล้วน้อมพระทัยที่จะไม่แสดงธรรม เป็นเหตุให้สหัมบดีพรหมมากราบทูลอาราธนา และ ณ ที่นี้เช่นกัน ได้ทรงพระดำริเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ ที่เป็นเอกายนมรรคและอินทรีย์ ๕ อันมีอมตธรรมเป็นที่หมาย; พึงสังเกตว่าเรื่องในสัปดาห์ที่ ๒-๓-๔ นั้น เป็นส่วนที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวแทรกเข้ามา ความนอกนั้นมาในมหาวรรคแห่งพระวินัยปิฎก (เรื่องดำริถึงสติปัฏฐานและอินทรีย์มาในสังยุตตนิกายมหาวารวรรค พระสุตตันตปิฎก)